General

ระวัง!! น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคเสี่ยงอุจจาระร่วง

กรมอนามัย แนะ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการร้านอาหาร-แผงลอย และผู้บริโภค ใช้ภาชนะเก็บน้ำแข็งที่สะอาด และถูกสุขลักษณะ ลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค

หลายคนท้องเสียไม่ทราบสาเหตุ และเพ่งเล็งไปที่อาหารที่รับประทาน แต่หารู้ไม่ “น้ำแข็ง” ก็เป็นต้นตอให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในหน้าร้อน ที่ผู้บริโภคมักรับประทานน้ำแข็งคู่น้ำดื่ม และไม่ทันระวัง ที่สำคัญผู้ผลิต ผู่ส่ง และร้านอาหาร ก็ละเลยในการดูแลความสะอาด

S 18825421
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า การผลิตน้ำแข็ง จะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง กว่าจะถึงมือผู้บริโภค หากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวัง ตั้งแต่คุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งไม่สะอาดเพียงพอ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดโรคได้

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็ง เพื่อจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137  (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ และมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP)

ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และนอกจากนั้นพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยังบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุม ตรวจสอบสุขลักษณะ ของการจำหน่ายน้ำแข็งในร้านอาหาร และแผงลอย ตามข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นๆด้วย หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

น้ำแข็ง

พญ.พรรณพิมล ย้ำไปถึงผู้จำหน่ายน้ำแข็ง ให้คำนึงถึงความสะอาด และปลอดภัย โดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็น และภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อ หรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด โดยภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็ง ต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ ที่ทำให้เกิดโรค

หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติก จะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติก ที่ผ่านการใช้มาแล้ว หรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็ง ต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว ห้ามมีอย่างอื่นแช่ในถังน้ำแข็ง จะมีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้ามเท่านั้น

หากจะใช้น้ำแข็ง เพื่อแช่น้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มต่างๆ ผัก หรือเนื้อสัตว์ ควรแยกถังแช่ต่างหาก ไม่ควรนำมาแช่รวมกับน้ำแข็งที่ใช้เพื่อการบริโภค

Avatar photo