Digital Economy

อนาคต!! ‘สุรเกียรติ์’ ยัน ‘บิ๊กดาต้า’ ตัวเชื่อมโลกเศรษฐกิจ

“สุรเกียรติ์” ย้ำ “บิ๊กดาต้า” ตัวกำหนดการพัฒนาประเทศในโลกยุคอนาคตโดยเฉพาะ “ด้านเศรษฐกิจ” ชี้ “ไทย” เร่งสางกฎหมายเก่าให้ทันสมัยตามยุค 4.0

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0075

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพ และความปรองดองแห่งเอเชีย นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL (มหาวิทยาลัย Canegie Mello และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Big Data กับการพัฒนาประเทศ ในงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 สำนักข่าว The Bangkok Insight ณ โรงแรม นิกโก้ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา

ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายถึงสาเหตุที่ข้อมูล (ดาต้า) มีความสำคัญ โดยผลการศึกษาพบว่าการไหลเวียนของดาต้า ณ ปัจจุบันนี้ มีมากกว่า 50 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง มีคนทำการศึกษาว่า ภายในปี 2568 ข้อมูลสะสมทั่วโลกจะเทียบเท่าห้องสมุด 1 ล้านล้านห้องสมุดที่อยู่ในปัจจุบัน หรือถ้าเป็นเพลงจะฟังกันต่อเนื่องไปได้ยาวนานถึง 3.3 แสนล้านปี

ถามว่าทำไมดาต้าถึงมากขนาดนี้ ก็เริ่มต้นมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุ๊ก ทำให้ดาต้าไหลเวียนกันไปมา และยังมาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งที่สุดข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จากที่เคยอยู่ในแลบท็อป ก็สามารถเข้าไปบรรจุในชิพเล็กๆ สมาร์ทโฟน แล้วมีประสิทธิภาพเท่าๆ กับเทคโนโลยีที่ใช้ในการทหาร ทางความมั่นคง เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

“แต่เวลานี้มีเทคโนโลยีนั้นอยู่ในฝ่ามือ คนมีอีเมลที่่ส่ง 187 ล้านครั้งต่อ 1 นาที มีคนดูยูทูบ 4.3 ล้านครั้งต่อ 1 นาที เพราะฉะนั้น โซเชียลเน็ตเวิร์คจึงเกิดขึ้น ทั้งอินเทอร์เน็ตที่นำไปสู่สมาร์ทโฟน ทำให้การไหลเวียนของดาต้ามากขึ้น เมื่อเทียบเป็นเพลงเราสามารถฟังได้ 3.3 แสนล้านปี”

นอกจากนั้น ยังมาจากการค้าโลก ที่นำไปสู่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ โดยผู้คนในปัจจุบันเกือบ 400 ล้านคน ซิ้อสินค้า และบริการผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามประเทศ

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0067

นอกจากนี้ ยังมีการสตรีมมิง  หรือดูเน็ตฟลิกซ์  หรือ เพื่อน ลูก หลาน ใช้หลักสูตรออนไลน์แบบเปิด เป็นการเรียนการศึกษาออนไลน์ ถือเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาประเทศไทย ฉะนั้น ดาต้าที่ไหลเวียนอย่างมาก และเกิดขึ้นด้วยปัจจัย 2-3 เหตุผล  กลายเป็นคอมมูนิตี้ กลายเป็นสินค้าขึ้นมา

คนมักเปรียบดาต้าเหมือนทองคำ น้ำมัน แต่ดาต้าเป็นยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นคอมมูนิตี้ที่ใช้แล้วไม่หมด  น้ำมัน ทองคำเอาไปแปรสภาพก็ยังเสื่อมค่า แต่สำหรับดาต้าแล้ว ถ้าทำดีๆ ไม่มีวันเสื่อม มีแต่มูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ดาต้าจึงมีความสำคัญ เพราะมีจำนวนมากมายมหาศาล และไหลเวียนทั่วโลกมหาศาลกว่าเดิม 50 เท่า 100 เท่า

ขณะเดียวกัน ดาต้าทำให้รู้ถึงสถานะปัจจุบัน บอกจุดแข็ง จุดด้อย ข้อบกพร่อง บอกหนทางไปถึงเป้าหมาย ซึ่งนำไปสู่กลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจ ถ้ามองประเทศไทยก็เหมือนกันกับทุกประเทศ ต้องการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่จะนำมาใช้สนับสนุนในการตัดสินใจนโยบาย ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งขนาด Volume Velocity การไหลเวียนที่เร็ว และมีความหลากหลายทางรูปแบบ ที่สำคัญที่สุด คือ มีความไม่ถูกต้อง 100% รวมอยู่ด้วย

“เวลานี้ ดาต้ากลายเป็นสินค้าที่ค้าขายกันได้ ในเยอรมนี และอีกหลายประเทศ เวลาไปซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อถาดผลไม้ เขาบอกว่าถ้าแชร์รูปส่วนตัวของท่าน 5 รูป เขาให้ฟรี เพราะ 5 รูปของท่าน เป็นดาต้าที่จะนำไปสู่บิ๊กดาต้า ยกตัวอย่างในฮ่องกง จะลดดอกเบี้ยให้ผู้กู้ ถ้าผู้กู้นั้นยอมให้เข้าไปดูเฟซบุ๊ก ซึ่งนำไปสู่บิ๊กดาต้า เขาสามารถนำไปสู่นวัตกรรมทางการเงินได้ ฉะนั้น ดาต้าไหลเวียนมาและเราคิดว่าเป็นเครื่องมือในการซื้อขายและบริการ เป็นเครื่องมือในการซื้อสินค้า เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และปัจจุบันดาต้าเป็นสิ่งซื้อขายได้”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า ประโยชน์ของบิ๊กดาต้า เมื่อรวมกับอินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เข้าใจและกำหนดเป้าหมายลูกค้า โดยรวบรวมจากพฤติกรรม ความชอบต่างๆ ซึ่งบริษัทค้าปลีกสามารถทราบความต้องของผู้บริโภค สามารถทำให้เลือกสินค้าสำหรับกลุ่มคนต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

ตัวอย่างเช่น ห้างร้านใหญ่ๆ ในสหรัฐ หรือในหลายๆ ประเทศ พอมีคนเดินเข้ามา กล้องวงจรปิดก็จะเก็บภาพหน้าตา พฤติกรรม ข้อมูลจากเครดิตการ์ดมีหรือไม่ ใช้เครดิตการ์ดอะไร คนไหนใช้เงินสด คนไหนหยิบของขึ้นมาแล้ววางลง คนไหนซื้อของไปแล้วเอามาคืน พวกนี้มีความหมายทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอามารวบรวมกันแล้ว ก็จะตอบได้ว่าสินค้าชิ้นไหนควรจะวางอยู่ตรงนั้น สินค้าชิ้นไหนไม่ควรวางตรงนั้น สินค้าชิ้นไหนไม่ควรจะอยู่ในร้านเรา สินค้าชิ้นไหนควรจะลดราคา หรือสินค้าชิ้นไหนไม่ควรจะลดราคา

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0065

หากจะบอกว่าปัจจุบันก็ทำอย่างนี้กันอยู่แล้ว แต่การทำอย่างนี้ช่วง 10 ปี กับการทำอย่างนี้กับบิ๊กดาต้ามีความเป็นวิทยาศาสตร์ ต่างกัน เพราะฉะนั้น การทำแบบนี้มาร์เก็ตติ้งยุทธศาสตร์ทางด้านการตลาด โดยผ่านบิ๊กดาต้าจึงมีความแม่นยำ และนำไปสู่กลยุทธ์การชนะทางธุรกิจเป็นอย่างมาก เช่น สถาบันการเงิน รู้ได้ลึกและรอบด้านกว่ามาก รู้ประวัติและดูทุกอย่างได้หมด ขณะนี้ใช้บิ๊กดาต้าบวกกับเอไอ หลายประเทศหาความเสี่ยงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยไปดูข้อมูลจากการใช้ไฟฟ้า อัตราคนเข้าพักโรงแรมหรือคอนโดมิเนียม ดูอัตราขอสินเชื่อจากตลาดอสังหาริมทรัพย์

การซื้อรถยนต์ก็เช่นกัน ลูกค้าเดินเข้าไปซื้อรถแบบไหน ไม่เอาแบบไหน สีแบบไหน ขายแบบไหน ขึ้นไปลองนั่งอย่างไร ลองนั่งข้างหน้าหรือข้างหลัง ขยับเก้าอี้แบบไหน พวกนี้กลายเป็นข้อมูลหมด แม้กระทั่งการแพทย์ก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก เชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาตัวของคน การไปซื้อยาตามร้านขายยาทั้งหลาย บางประเทศสามารถทำดาต้าเหล่านี้ให้กลายเป็นบิ๊กดาต้า สามารถเฝ้าสังเกตการณ์ระบาดของหวัดได้อย่างทันที

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวด้วยว่า ในเมืองปอร์โต้ โปรตุเกส มีอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเตือนฝ่ายดูแลของเสียของเมืองเมื่อถังขยะเต็ม ที่ลอสแอนเจอลิส ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมสัญญาณไฟจราจร 4,500 จุดทั่วเมือง และสามารถลดปริมาณรถติดได้ถึง 16% ซึ่งมาจากการเก็บดาต้าเป็นบิ๊กดาต้า แล้วไปบวกกับเอไอ

นอกจากนี้ เครื่องบินไอพ่นจีอีที่ใช้ขับเคลื่อนโบอิง ดรีมไลเนอร์ 787 สามารถผลิตข้อมูลได้ถึง 1 เทราไบต์ต่อวัน ซึ่งช่วยสายการบินให้สามารถบริหาร บำรุงรักษา ดูแลชิ้นส่วนอะไหล่ วิเคราะห์เที่ยวบิน สภาพการเดินทาง อากาศ การปั๊มในเครื่องบิน การกินน้ำมัน เซ็นเซอร์เครื่องยนต์ บริหารเที่ยวบินได้อย่างดีขึ้น

ขณะที่ กรมวิชาการเกษตรของสหรัฐ ได้เปิดตัว Global Open Data For Agriculture and Nutrition สามารถบอกข้อมูลของอากาศ ระบบการเกษตร พื้นที่เพาะปลูกได้อย่างละเอียด เพื่อทำให้ประชากรสามารถทำการเกษตรบนพื้นที่ที่มีอยู่ ให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ซึ่งมาจากการเก็บข้อมูลทำการเกษตรในฤดูต่างๆ แล้วเอามารวมกันวิเคราะห์เป็นบิ๊กดาต้า

ขณะเดียวกัน จีนได้ทำระบบ Facial Recognition กล้องวงจรปิด ไม่ได้ถ่ายธรรมดา แต่ถ่ายลงไปแล้วศึกษาไบโอเมทริคบนใบหน้า และใช้เอไอเก็บข้อมูล คนที่เดินข้ามถนนที่สี่แยกเซี่ยงไฮ้ หรือตามถนนหนทาง เก็บไว้เป็นคลังข้อมูลอย่างมหาศาล จนในที่สุดพิสูจน์แล้วว่า สามารถจับผู้ร้ายได้ด้วยกล้องวงจรปิดแม้คนที่เป็นผู้ร้ายอยู่ในฝูงชนตรงนั้น ซึ่งบอกว่าจะจับได้ภายใน 1 ชม. แต่สามารถจับได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ระบุว่า จีนยังมีระบบใหม่ Social Credit Scoring หรือ การให้คะแนนประชากร ด้วยการเก็บข้อมูล เก็บดาต้ามากขึ้นเรื่อยๆแล้วใช้เอไอเข้ามาผสม ดูข้อมูลพฤติกรรมของแต่ละคน แล้วกระจายไปให้เอกชน 8 ราย ไปทำแข่งกัน ทดลองพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา คนๆ หนึ่ง เคยวิจารณ์รัฐบาลไหม เคยเขียนบทความอย่างไร เคยเดินไปโรงพยาบาลกี่ครั้ง ศึกษาที่ไหน ชอบกินอาหารแบบไหน มีเพื่อนแบบไหน เอาข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมเป็นบิ๊กดาต้า ว่าประชากรของตนได้คะแนนเท่าไหร่ สามารถเท่าไหร่ บวก ลบ เท่าไหร่

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0071

อย่างไรก็ดี จากการเพิ่งกลับมาจากประชุมในบริษัทแห่งหนึ่งที่ยุโรป ซึ่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศอยู่ และมีการทำให้ดูซึ่งอาจจะเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว เอาเอไอเก็บวิธีการพูดของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ดูริมฝีปากไปเรื่อยใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แล้วก็ดูไปโอเมทริคหน้าของโอบาม่า แล้วทำโอบาม่าปลอมขึ้นมา ปากขยับทุกอย่างริ้วรอยทุกอย่างขยับ เอาสิ่งที่โอบาม่า พูดเอาไว้เมื่ออายุ 18 ปี มาพูดในหน้าของโอบมม่าปัจจุบัน ซึ่งริมฝีปากถูกต้องหมด อีกหน่อยเจอหน้ากันต้องถามว่าตัวจริงหรือเปล่า เมื่อเจอหน้ากัน

บิ๊กดาด้าจะเกี่ยวกับนโยบายของรัฐอย่างไร ในสหรัฐ  โอบามาเริ่มบิ๊กดาต้า รีเสิร์ช โดยวิจัย ตั้งแต่ปี 2555 อีกทั้ง มีการวิจัยข้อมูลบิ๊กดาต้า แล้วพัฒนาข้อมูลออกมาเรียบร้อย โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามการริเริ่มการใช้เอไอของอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์  2557 ขณะที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บอกว่าต้องชี้เป้าไปที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะจัดการทรัพยากรให้ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่การผลิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องมีการพัฒนาแกนกลางหลักของเทคโนโลยี คือ บิ๊กดาต้า และต้องเร่งสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่ค่านิยม และระบบนิเวศน์ของบิ๊กดาต้า ที่เป็นอิสระแต่ควบคุมได้

“สี จิ้นผิงบอกว่า อินเทอร์เน็ตบิ๊กดาต้า และเอไอกับเศรษฐกิจ ต้องเชื่อมโยงกันได้หมด จีนให้บิ๊กดาต้าเป็นกลยุทธ์หนึ่งระดับชาติของประเทศ และสี จิ้นผิงบอกว่าให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเสาหลักของเมดอินไชน่า 2025 แต่ปัญญาประดิษฐ์จะมีความหมายได้ ต้องมีบิ๊กดาต้า จากบิ๊กดาต้า เป็นบิ๊กดาต้า อะนาไลติค แล้วต่อด้วยอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ กับเอไอ เขาตั้งเป้าจะเป็นผู้นำของโลกไม่ใช่ทางทหาร ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นผู้นำเทคโนโลยีในปี 2563 ในสิ่งที่จีนประกาศ”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ย้ำว่า ปัจจุบันกำลังเดินเข้าไปสู่ในยุคที่เรียกว่าเทคโนโลจิคอลวอลล์ เป็นการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี เป็นการสู้รบที่ไม่ได้ใช้อาวุธ ดังนั้น บิ๊กดาต้ามีประโยชน์มากในการพัฒนาประเทศ ทำให้คนตัวเล็กสู้คนตัวใหญ่ได้ เพราะดาต้าบางอย่างไม่ต้องลงทุนสูงมาก ก็ได้ประโยชน์ได้ เช่น การเกษตร

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0076

นอกจากนี้ การศึกษามีเก็บข้อมูลกันหมดเวลานี้ นักเรียนชอบและไม่ชอบเรียนอะไร อาจารย์สอนอย่างไร ผลการสอบเป็นอย่างไร นักเรียน นักศึกษา จบไปแล้วมีงานทำหรือไม่ คอมเมนท์กันว่าอย่างไร เพื่อดีไซน์การสอนต่างๆให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการเรียนผ่านระบบออนไลน์ การติดตามข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค การวางแผนต่างๆ เช่น อยากจะรู้ว่า คนว่างงานมีเท่าไหร่ แทนที่ดูตัวเลขจากกระทรวงแรงงานเฉยๆ หลายประเทศเริ่มปหาคำในกูเกิ้ล และไปดูอินเทอร์เน็ต ดูคำที่คนติดต่อค้นหากันเท่าที่พอหาได้ว่า คำอะไรที่คนค้นหาที่จะสะท้อนได้ว่า คนนั้นตกงาน แล้วรวบรวมออกมาเพื่อติดตามว่าตลาดแรงงานของประเทศตัวเองแล้ว จริงๆมันว่างงานเหมือนกับตัวเลขของกระทรวงแรงงานพูดเอาไว้หรือเปล่า

“ข้อมูลบัตรคนจนที่รัฐบาลได้ทำออกไป ข้อมูลจากกิจกรรมโอท็อป หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ข้อมูลจากกองทุนหมู่บ้าน ว่าใครขอยืมเงินไปทำอะไรบ้าง เมื่อเอามารวมเป็นบิ๊กดาต้าได้ จะเป็นประโยชน์มหาศาลของการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ตรงจุด หรือเกาถูกที่คันกว่าเดิม”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ บอกด้วยว่า ทางด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน ถ้าเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวจากจีน ยุโรป รายประเทศ เดินเข้ามา แต่งตัวอย่างไร อยู่โรงแรมอะไร ไปที่ไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งเวลานี้ก็ทำ แต่ทำแบบพูด มีข้อมูลบ้างว่าใครอยู่ที่ไหน แต่ไม่ได้เอาดาต้าเหล่านั้นมารวบรวมกันอย่างเป็นระบบ ว่าอยู่โรงแรมอะไร เช็คอินยังไง ไปเที่ยวไหน มันเป็นบิ๊กดาต้า เพราะข้อมูลต้องมากมายมหาศาล ไม่ใช่ข้อมูลที่เห็นๆ กันอยู่ ว่านักท่องเที่ยวเข้ามา 35 ล้านคน มีคนจีน ยุโรป ฮ่องกง เท่าไหร่ ไม่ใช่แค่นั้น มันจะลงไปละเอียดมากในทุกอย่าง

ด้านสาธารณสุขก็เหมือนกัน จะต้องเก็บข้อมูลว่าคนอายุเท่าไหร่ เป็นโรคอะไร ไปโรงพยาบาลหรือคลินิกไหน ไปหาหมอไหน หมอให้ยาอะไร เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ดูเป็นปกติทุกวัน กลายเป็นข้อมูลที่มีค่า กลายเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0077

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของความเร็ว ความมาก และหลากหลาย ก็เป็นดาบสองคม กรณี Social Credit Scoring ของจีน ก็เริ่มมีปัญหาขัดกับสิทธิของประชาชน ความเป็นส่วนตัวแค่ไหน สิ่งที่ตนเองเคยพูด เคยเขียน หรือวิจารณ์รัฐบาลไว้ ตัวเองอาจไม่ได้เขียน ใครเขียนขึ้นมาแล้วไปกดไลค์ พวกนี้จะทำให้คะแนน Social Credit Scoring ลดลงหรือเปล่า และมีผลอย่างไร มีผลต่อการขอสินเชื่อธนาคารหรือไม่ เปิดมาดู Social Credit Scoring ต่ำ ไม่ได้สินเชื่อ หรือได้แต่ดอกเบี้ยสูง ไปกระทบการทำพาสปอร์ต กระทบในการศึกษา การเข้ามหาวิทยาลัย ไปกระทบได้แม้กระทั่งการซื้อตั๋วเครื่องบิน คนที่มี Social Credit Scoring ต่ำ อาจจะถึงขนาดที่ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ

ส่วนกรณีเฟซบุ๊ก อย่างที่เคยได้ยินกันมา ในเรื่องที่มีผลต่อการเมือง กรณีบริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติกา ใช้ข้อมูลจากสมาชิกเฟซบุ๊กถึง 50 ล้านบัญชี เพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัญชี ก็เป็นเรื่องราวสอบสวนกันในสภาคองเกรส มีการออกกฎระเบียบใหม่ว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง หุ้นเฟซบุ๊คตก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาขอโทษ และก็ต้องมีกฎเกณฑ์มากขึ้น ผลของมันคืออะไร เมื่อสำรวจและวิจัยกันแล้ว สมาชิกเฟซบุ๊กแม้จะรู้สึกไม่ดีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ว่าอะไร ก็ยังใช้ต่อไปจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งน่าสนใจมาก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวว่า รัฐกับเอกชนเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้าทั้งคู่ รัฐเองจะเปิดข้อมูลให้เอกชนแค่ไหน เพราะถ้าข้อมูลบิ๊กดาต้า เป็นอำนาจในยุคใหม่ ไม่ใช่อำนาจจากปากกระบอกปืน เพราะฉะนั้น การถ่วงดุลของอำนาจนี้จะทำอย่างไร ขนาดบางประเทศ ดาต้าเป็นอำนาจที่รัฐมี เพราะเก็บข้อมูลเยอะสุด แต่ต้องถ่วงดุลด้วยการประชาชนมีสิทธิขอดูข้อมูลที่รัฐเก็บ

“ตรงนี้เป็นประเด็นเถียงกันว่าสิทธิในการเข้าดูข้อมูล เพราะไทยก็มีพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯอยู่ ซึ่งก็ทราบกันดีว่าไม่ได้เข้าไปกันได้ง่าย ปัญหาอะไรบ้างที่มีสิทธิขอดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเองหรือครอบครัว ว่าเก็บไปใช้ทำอะไรบ้าง ดังนั้น สมดุลตรงนี้ที่จะใช้อำนาจจากดาต้า และใช้ดาต้าในการถ่วงดุลอำนาจ จึงเป็นสิ่งท้าทายของทุกรัฐบาล”

อย่างไรก็ตาม ยุโรปใช้การออกกฎหมาย อย่างเดินทางมาในไทย แต่บริษัทยุโรปที่เอาข้อมูลไปใช้ จะถูกลงโทษ ไม่ได้ลงโทษบริษัทไทย แต่ลงโทษบริษัทยุโรป ทัวร์ หรือสถาบันการเงินที่เอาไปใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สามารถไปใช้บังคับในต่างประเทศได้ ใช้บังคับกับคนของเขา นี่คือ จีดีพีอาร์ กฎหมายใหม่ที่ออกขึ้นมา แล้วจะปกป้องคนของเราขนาดนั้นเลยไหม แล้วอเมริกาจะปกป้องคนของเขาเลยไหม เพราะจีดีพีอาร์เองก็กระทบเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุน

แต่ความสมดุลระหว่างการดูแลสิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์ของบิ๊กดาต้า เป็นสิ่งที่สังคมตะวันตกกับตะวันออกเห็นต่างกันสิ้นเชิง จีนมีความก้าวหน้าในความเป็นบิ๊กดาต้าและเอไอ มากกว่าสังคมตะวันตกอย่างมาก เพราะจีนไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิส่วนบุคคล สนแต่เพียงเรื่องความสะดวก ให้สามารถสั่งซื้อหรือทำอะไรผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างอย่างสะดวก กู้เงินธนาคาร จำนอง ทำได้ทุกอย่างจากสมาร์ทโฟน คนจีนแฮปปี้

ขณะที่ยุโรป อเมริกา จะถามตลอดว่า ข้อมูลเอาไปทำอะไร ฉะนั้น ยุโรปกับอเมริกาจะออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะฉะนั้น แม้จะเก่งเท่าๆ กับจีน แต่อเมริกา กับยุโรปจะไม่มีความเจริญแซงจีนในเรื่องบิ๊กดาต้า และเอไอได้

แล้วไทยจะไปทางไหน ซึ่งมีแต่คำถามไม่มีคำตอบ เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมไทย โดยสิ่งที่ต้องคิด เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิด คือ บิ๊กดาต้า โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมาก ทำอย่างไรให้มีพื้นที่เก็บข้อมูลที่จะสามารถรองรับการขยายข้อมูลไปได้เรื่อยๆ

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0083

รัฐบาลได้มอบหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า แต่ข้อมูลที่ได้มีมากกว่าขึ้นกว่าที่ผ่านมาถึง 50 เท่า จะนำไปเก็บอยู่ตรงไหน และข้อมูลแบบไหน จะเก็บอย่างไร ไม่ใช่ว่าข้อมูลทุกที่อยู่ที่เดียวกันหมด ต้องจัดเก็บให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ เช่นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ต้องเก็บไว้ที่ไหน ข้อมูลที่สามารถเปิดให้กับเอกชน หรือต่อสาธารณะ จะอยู่ที่ไหน

นอกจากนี้ สิ่งที่ท้าทายรัฐ ก็คือ เรื่องของบิ๊กดาต้า กับความเป็นส่วนตัว จะวางสมดุลอย่างไรให้เกิดความพอดี เพราะบิ๊กดาต้าเป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น แต่ต่อจากบิ๊กดาต้า ก็คือ เอไอ ซึ่งเป็นตัวที่จะนำประโยชน์จากบิ๊กดาต้าไปใช้ได้ เพราะฉะนั้น บิ๊กดาต้าเป็นจุดเริ่มต้น

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีสภาพแวดล้อมของการจัดการบริหารข้อมูลที่มีความปลอดภัย ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้ว่า ข้อมูลอันมหาศาลจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย ไม่ให้หลุดรั่ว หรือไปทำอะไรในทางไม่ชอบ จนเกิดความเสียหายต่อส่วนตัว”

โรงพยาบาลเก็บข้อมูลส่วนตัวไว้มาก โดยเฉพาะในต่างประเทศหลายโรงพยาบาล คลอดลูกแล้ว ขอเอารกไปเก็บ และมีระบบรักษาความปลอดภัย อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์ มีมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก บอกว่า มีบริษัทมาจ้างทำวิจัยเรื่องจะทำข้อมูลปกป้องในคลาวด์ได้อย่างไร โดยยกตัวอย่างประโยชน์อันมหาศาล เมื่อเอารกไปเก็บไว้แล้ว ศึกษาสเต็มเซลล์ ศึกษาทุกอย่าง ถึงเวลาพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัวป่วย สามารถวิเคาระห์และสกัดสารต่างๆ  ออกมาเพื่อแก้ไข และอาจวิเคราะห์ต่อไปได้ว่าคนๆ นี้จะความจำเสื่อมหรือเปล่า จะเป็นปัญหาอะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่ แต่ข้อมูลเหล่านี้ครอบครัวไม่ต้องการให้หลุดออกมา และไม่ต้องการใช้ในยามที่ไม่อยากจะใช้ ยกเว้นฉุกเฉิน ดังนั้น รัฐต้องสร้างมาตรการตรงนี้ รวมถึงข้อมูลทางด้านการค้าเช่นกัน

นอกจากนี้ ในฐานะนักกฎหมาย มองว่ากฎหมายไทยต้องพัฒนา ซึ่งกำลังพูดว่าประเทศไทย 4.0 แต่กฎหมายไทยกลับยังอยู่แค่ 0.4 มีการพูดถึงระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 บอกว่าสามารถเป็นเจ้าของหรือบริหารจัดการรถรับจ้างอย่าง แกร็บ หรืออูเบอร์ได้  แต่กฎหมายไทยบอกว่าผิดกฎหมาย สามารถบริหารจัดการคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของสักแห่งเดียว ศาลจังหวัดหัวหิน บอกว่าผิดพ.ร.บ.โรงแรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายด้วยว่า รัฐบาลพยายามใช้ซอฟต์แวร์จากประเทศหนึ่ง ที่เอาเข้ามาดูกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ อนุบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา ลงมากฎและระเบียบกระทรวง ซึ่งมีเป็นหมื่นๆฉบับ จะมานั่งวิจัยทีละฉบับว่าอันไหนล้าสมัยก็ลำบาก ปรากฏว่าการที่รัฐบาลจะซื้อซอร์ฟแวร์นี้เกิดปัญหาเนื่องจากขัดพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเท่ากับว่ากฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการจัดซื้อซอร์ฟแวร์มาเพื่อตัดหัวกฎหมายที่ล่าสมัย

“ผมอยากให้หน่วยงานของรัฐกล้าๆ Regulatory Sandbox ทดสอบกันระหว่างพวกเท็กซ์อินดัสทรี่กับรัฐบาล คือ ทดสอบธุรกรรมจำกัด ในกลุ่มคนจำกัด สักระยะเพื่อดูว่ามีข้อดีและเสียอย่างไร จึงค่อยร่างกฎหมายออกมา แต่พอมาถึงบิทคอยน์  บล็อกเชน ไม่ทำ กลัวกระแสสังคม อีสปอร์ตโผล่ขึ้นมา ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร ก็กลัวและห้ามกันว่าจะติดอีสปอร์ต ซึ่งมีคนมาถามว่าแล้วมันต่างจากติดไลน์ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ค่อยแน่ใจว่ามันต่างกันอย่างไร เพราะจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ซึ่งพัฒนามาจากบิ๊กดาต้า”

BIG DATA TRANSFORMATION 2019 ๑๙๐๔๐๑ 0052

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า จากการเพิ่งกลับมาจากโป๋อ่าว ไหหลำ มีการประชุมฟอรั่ม เห็นว่าหัวข้อการประชุมครั้งนี้ 70% เป็นเรื่องเทคโนโลยีหมด ซึ่งผู้ว่าแบงค์ชาติก็ไป และมีรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆไปกันจำนวนมาก ถ้ากลัวเกินไปว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะเป็นการฟอกเงิน ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ได้ แต่ห้ามหมด ซึ่งห้ามเท่าไหร่คนก็ไปทำที่อื่นได้ ที่สวิสจ่ายค่าน้ำไฟเป็นบิทคอยน์ได้แล้ว หรือสิงคโปร์สามารถทำในสมาร์ทโฟนได้ ไม่ได้สนับสนุนว่ามันดีหรือไม่ แต่กำลังคิดว่าอย่ากลัวเทคโนโลยีเกินไป

การศึกษาจะใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าที่ผ่านเอไอและอินเตอร์เน็ต การศึกษาไทยต้องไม่เป็นเหมือนปัจจุบัน สถาบันการศึกษาไทยต้องเขียนหลักสูตรกับภาคเอกชน ต้องเขียนหลักสูตรกับนักเทคโนโลยี ว่าบิ๊กดาต้านี้คืออะไร เอไอที่จะใช้กับบิ๊กดาต้า จะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มันคืออะไร ไม่เช่นนั้นเด็กจบปริญญาตรี 2 ปีที่แล้ว 1.8 แสนคน ปีที่แล้วตกงาน 2 แสนคน ทุกมหาวิทยาลัยสอนคอมพิวเตอร์ซอร์ฟแวร์ แต่ภาคเอกชนบอกต้องการคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ ในที่สุดคนจบมหาวิทยาลัยต้องไปขายของ

ทั้งนี้ ไม่ได้ดูแคลน เพราะการขายของเป็นอาชีพสุจริต แต่ถ้าขายในร้านสะดวกซื้อ อะไรก็ตาม จบม.3 อาจทำหน้าที่ได้ดีพอๆ กับปริญญาตรี และจะเสียเงินและเวลาไปทำไมอีก 6 ปี เพื่อเรียนจบมาแล้วไปทำอย่างเดียวกัน ในฐานะที่เคยเป็นคณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ คิดว่าถ้าไม่ยกเครื่องการศึกษาไทยให้เป็นการศึกษาตลอดชีวิต อันตรายมากสำหรับประเทศ

โดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยไม่พังด้วยนโยบายเศรษฐกิจ แต่จะพังด้วยระบบการศึกษา ซึ่งคิดว่าต้องทำเรื่องนี้ เพราะสิงคโปร์ก็ทำ แต่สิ่งที่ขัด คือ ประถม มัธยม ตรี โท เอก กระบวนการจัดการศึกษาแบบนี้ ขัดกับการศึกษาตลอดชีวิตในต่างประเทศ ดังนั้น คนกลุ่มแรกที่ต้องเรียน คือ ครู กลุ่มที่สอง คือ ผู้บริหารในบริษัทเอกชน ราชการ และรัฐวิสาหกิจ ถามว่ามีระบบดังกล่าวให้คนเหล่านี้แล้วหรือยัง

สิ่งท้าทายรัฐบาลอีกอย่างคือ การที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม กว่าจะเลือกตั้งเสร็จ ตั้งรัฐบาลได้ ก็คงประมาณเดือนมิถุนายน ตามกฎหมาย หมายความว่าเหลือเวลาอีก 5 เดือน และเดือนพฤศจิกายน จะมีผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ มาประชุมที่ไทย มีประธานาธิบดีสหรัฐ นายกรัฐมนตรีจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาประชุมที่ประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในเรดาห์สกรีน ซึ่งเวลาเตรียมตัวเป็นประธาน และทำอะไรให้มีความหมาย ก่อนเวียดนามมารับต่อในเดือนมกราคมปีหน้ามีน้อยมาก

ทั้งนี้ ก็ต้องเพิ่งข้าราชการ และที่พูดเรื่องนี้ เพราะคิดว่ากำลังพูดถึงประเทศไทย 4.0 และบิ๊กดาต้า สิ่งที่ทำไทยต้องทำ คือ ให้ 10 ประเทศอาเซียน เป็นฟิวเจอร์ เรดดี้อาเซียน เป็นอาเซียนที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต พร้อมกับบิ๊กดาต้า ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ทำอย่างไรให้ 10 ประเทศ ประชากรกว่า 600 ล้านคน ทำอย่างไรที่เราจะสร้าง การเตรียมตัวให้คนอาเซียนเป็นฟิวเจอร์เรดดี้อาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าทำและทำได้ แต่รัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ แต่ภาคเอกชนต้องเป็นคนนำ เพราะเอกชนไปได้ไกลมาก และต้องไม่ทิ้งใครว่าข้างหลัง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight