COLUMNISTS

เอกชนมองเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งอย่างไร

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1573

สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อไล่สัมภาษณ์ความเห็นจากภาคเอกชน ต่อสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่ส่อเค้าอึมครึม จากการช่วงชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างขั้วพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ เสียงสะท้อนจากคนทำธุรกิจ เรียกร้องให้คนการเมืองเร่งสร้างความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว หากยืดเยื้อจะเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจได้

สุพันธุ์ มงคลสุธี231625
สุพันธุ์ มงคลสุธี

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แสดงความเห็นไว้หลายครั้ง ซึ่งสรุปความสำคัญได้ว่า จนถึงขณะนี้ทุกอย่าง(เศรษฐกิจ)ยังไม่หยุดชะงัก และยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เพราะไม่เกิดสถานการณ์ออกมาประท้วง จนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

แต่ตัวแทนจากภาคการผลิตของประเทศ ยอมรับว่า สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าขั้วการเมืองใดที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนใหม่ชะลอออกไปอย่างน้อย 2 เดือน และคาดหวังว่า ทุกอย่างจะชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หากยังยืดเยื้อนานกว่านั้น ภาคเอกชนและคนในสังคมจะรู้สึกอึดอัด

ส่วนมุมมองต่อรัฐบาลใหม่ คุณสุพันธ์มีมุมมองประมาณว่า จะมาจากพรรคไหนก็ได้ แต่สิ่งที่สอท.อยากเห็นก็คือ ต้องเป็นรัฐบาลที่ไม่มีคอรัปชั่น สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชน และมีความมุ่งมั่นที่จะลดขนาดองค์การภาคราชการลง 60 % ภายใน 20 ปี โดยนำเทคโนโลยีมาเสริม และให้ปรับรายได้ขึ้นเท่าเทียมเอกชน

ที่น่าสนใจคือ คุณสุพันธ์เชื่อว่า เสียงสนับสนุนระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล หาก(รัฐบาล)ไปไม่ไหว แล้วประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น รัฐบาลใหม่ควรเร่งสร้างผลงานโดยเร็ว

ส่วนมุมมองจากภาควิชาการ เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพแบงก์ชาติ ออกมาพูดในเรื่องเดียวกันว่า แบงก์ชาติไม่ได้กังวลเรื่องความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจเต็มในการดำเนินโครงการต่างๆ ต่อไป แต่ผู้บริหารจากแบงก์ชาติรายนี้ยอมรับว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ทำให้ ”ความเสี่ยง” ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ทวนกันอีกครั้งว่าก่อนหน้าการเลือกตั้ง หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและเอกชน ออกมาแถลงถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจหลักของไทย อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หรือแรงกระเพื่อมจากกรณีที่นักการเมืองอังกฤษยังหาข้อสรุปเรื่องเบร็กซิทไม่เจอ และหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลง

และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75 % โดยยกเหตุผลเรื่องความ”ไม่แน่นอน” มาเป็นปัจจัยตัดสินใจเช่นกัน

เมธี สุภาพงษ์27362
เมธี สุภาพงษ์

ในคำแถลงระบุว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และปัจจัยในประเทศที่สูงขึ้นในปัจจุบัน

แม้แบงก์ชาติเลี่ยงไปใช้คำว่า ”ปัจจัยในประเทศ” แต่เดาได้ไม่ยากว่า คงหมายถึงความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ และที่ประชุมกนง. ครั้งนั้น ยังปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 3.8 % จากคาดการณ์เดิม 4 % โดยอ้างถึงปัจจัยทั้งนอกและในที่รุมเร้าเข้ามา แต่โดยรวมแล้ว แบงก์ชาติยังมองว่า เศรษฐกิจไทยไม่มีอะไรน่าห่วง แนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับศักยภาพ ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ฯลฯ

สรุปมุมมองภาคเอกชน และภาควิชาการโดยรวมแล้ว ยังมีมุมมองบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าภาพเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม แม้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จากการชิงไหวชิงพริบของ 2 ขั้วการเมือง เพื่อชิงการเป็นแกนนำจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล หากสถานการณ์ยังอยู่ในกรอบ ภาคเอกชนถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ผลที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพียง ผลทางจิตวิทยา เท่านั้น และแบงก์ชาติมองว่า รัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจเต็มในการบริหาร โอกาสที่จะเกิด “สุญญากาศทางเศรษฐกิจ” จึงมีน้อยมาก

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ภาคเอกชน และทุกๆ ภาคส่วน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ควรจะได้รัฐบาลใหม่ตามแผน คือภายในเดือนมิถุนายน หากยืดยาวออกไปไกลว่านั้น ความอึดอัดของสังคมจะทวีเพิ่มขึ้น

ถ้าสถานการณ์หวนกลับไปเส้นทางสายเก่าที่มีการชุมนุมประท้วงกันอีก หรือเกิดอุบัติเหตุอย่างที่กังวลกัน รอบนี้แค่หั่น จีดีพี อาจจะยังไม่พอ