POLITICS-GENERAL

‘นวด’ รักษาโรคป้องกันความเสี่ยง!!

กรมการแพทย์แผนไทย ย้ำประโยชน์ของนวดไทย  เป็นศาสตร์สากลที่ได้รับการยอมรับแล้วทั่วโลก  แต่การนวดเพื่อรักษาโรค ต้องใช้บริการ กับผู้ประกอบวิชาชีพการนวดไทย ที่ผ่านการรับรองจากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้น   

S 21741687 แผนไทย 1
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์

นพ.ปราโมทย์   เสถียรรัตน์  รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในฐานะโฆษกกรม  กล่าวว่า ศาสตร์การนวดไทย เป็นการนวดเพื่อการรักษา และการฟื้นฟูร่างกาย แต่ทั้งนี้ ผู้ให้บริการนวด ต้องเป็นหมอที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ และผ่านการรับรองจากสภาการแพทย์แผนไทย

การนวดเพื่อการรักษานั้น เป็นที่รู้จักทั้งใน และต่างประเทศ และเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในสากลแต่การเข้าใช้บริการผู้ใช้ต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น สถานบริการได้รับการรับรองมาตรฐานหรือไม่ ผู้ให้บริการได้รับใบประกอบโรคศิลปะ หรือใบประกอบวิชาชีพหรือไม่  การนวดรักษาเป็นการนวดเพื่อเพิ่ม     การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ  ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อลดความตึงตัวลง ทำให้คลายจุดปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี  ทำให้การไหลเวียนของโลหิต และน้ำเหลืองดีขึ้น

physiotherapy 567021 640

ด้านนพ.ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวหญิงสาว รายหนึ่ง ไปรับการรักษาอาการเส้นพลิก ในสถานที่แห่งหนึ่ง จังหวัดระยอง และไม่ได้ใช้วิธีการบีบนวดตามหลักแพทย์แผนไทย ยืนยันว่า การนวดดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แผนไทย

ทั้งนี้การนวดไทยสามารถใช้บำบัดรักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียด  ปวดต้นคอ ปวดบ่า และไหล่จากการทำงาน เคล็ดกล้ามเนื้อทั่วไป  และอาการปวดจากการทำงานอื่นๆ ได้แก่ ปวดหลังปวดเอว ปวดขัดยอกสะโพก  ปวดแขน ปวดข้อศอกข้อมือ ปวดขา รวมถึงการออกกำลังกาย เคล็ดขัดยอก  หรือยืน เดินมาก ปวดเข่า แต่ไม่ใช่อาการข้ออักเสบจากการติดเชื้อ และปวดข้อเท้า ข้อเท้าแพลงโดยไม่มีการบวมอักเสบ ไหล่ติด และนิ้วไกปืน หรือ นิ้วล็อก

สำหรับอาการปวดขา ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากหลัง  ดังนั้นการรักษาต้องกระทำ โดยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง อาจมีผู้ช่วยแพทย์แผนไทยช่วยนวด พื้นฐานได้

โดยการนวดรักษานั้น มีการนวดเส้นพื้นฐาน มีจุดนวดที่ใช้รักษาโรค ซึ่งเป็นสูตรการนวดในการรักษาแต่ละโรคแตกต่างกันไป กรณีปวดขา จะมีการนวดพื้นฐานขา พื้นฐานหลัง พื้นฐานขาด้านใน และมีชุดจุดการนวด หลัง สะโพก และขาด้านใน อาจมีการ ดัดดึงได้ แต่ต้องระมัดระวัง ไม่มีการกระชากขา ซึ่งอาจทำให้เส้นยึดหดเกร็งจากการกระชากได้ เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาล ผู้ให้บริการจะมีการประเมินการเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยซักถามประวัติ  การเจ็บป่วย ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพคงที่ เช่น ไม่มีไข้ ชีพจรปกติ ความดันเลือดปกติ และไม่มีอาการ  หรือโรค ดังต่อไปนี้

1.กล้ามเนื้อบวมแดงร้อน

2.กระดูกแตก หัก กระดูกเคลื่อน ปริ ร้าว

3.โรคหัวใจ 

4.ความดันโลหิตสูง 

5.โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง  

6.โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ  โรคมะเร็ง 

7.แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท 

8.หลอดเลือดดำอักเสบ 

โดยโรคที่กล่าวมาเป็นอันตราย ต่อการนวดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นอย่างยิ่ง ผู้รับ และผู้ให้บริการ ควรพึงระวังในอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวด้วย

สำหรับการให้บริการนวด ตามหลักการแพทย์แผนไทย จะประกอบด้วย นวดเส้นพื้นฐาน เพื่อคลายกล้ามเนื้อ กดจุดสัญญาณ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นๆ อาจมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น การทำท่ากายบริหารด้วยฤาษีดัดตน โยคะ มณีเวช ทำให้เลือด ลมไหลเวียนดียิ่งขึ้น อาการปวดต่างๆจะทุเลาลง ส่วนการปฏิบัติตัวหลังการนวด ห้ามรับประทานอาหารแสลง เช่น หน่อไม้ เครื่องในสัตว์ 

หากประชาชนต้องการใช้บริการนวด เพื่อการบำบัดรักษาอาการโรค ควรใช้บริการในสถานพยาบาลคลินิกที่ ได้รับอนุญาตถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ถ้ามีข้อสงสัยสามารถสอบถามทางสำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดนั้นๆ หรือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เบอร์โทร 02 590 2606

Avatar photo