Business

17 เอกชนแห่ซื้อซอง ‘มอเตอร์เวย์’ 6.1 หมื่นล้านชิงสัมปทาน 33 ปี

บิ๊กเอกชน 17 รายแห่ซื้อซองบริหาร “มอเตอร์เวย์” 6.1 หมื่นล้านบาท ชิงสัมปทานยาว 33 ปี พร้อมกำหนดเปิดให้ยื่นข้อเสนอ มิ.ย. นี้ คาดลงนามสัญญาสิ้นปี

มอเตอร์เวย์โคราช4

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้เปิดจำหน่ายเอกสารประกอบการจัดทำข้อเสนอ (RFP) ในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) จำนวน 1 สัญญา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) จำนวน 1 สัญญา วงเงินรวม 61,086 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันนี้ (27 มี.ค.) เป็นวันสุดท้ายนั้น

ผลปรากฏว่ามีเอกชนสนใจเข้าซื้ออาร์เอฟพีทั้งหมด 17 รายดังนี้

  1. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์
  2. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ
  3. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
  4. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
  5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
  6. บริษัท ชีวิลเอนจีเนียริ่ง จำกัด
  7. บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
  8. บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด
  9. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM
  10. บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
  11. Metropolitan Expressway Company Limited จากประเทศญี่ปุ่น
  12. Japan Expressway International Company Limited หรือ JEXWAY จากประเทศญี่ปุ่น
  13. Far Eastern Electronic Toll Collection Co., Ltd. จากประเทศไต้หวัน
  14. China Harbour Engineering Company Limited จากประเทศจีน
  15. China Communications Construction Company Limited จากประเทศจีน
  16. Vinci Concessions จากประเทศฝรั่งเศส
  17. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

ด่าน มอเตอร์เวย์

ยื่นข้อเสนอ มิ.ย. – รู้ผลปลายปี

ขั้นตอนต่อไปกรมทางหลวงจะเปิดรับซองข้อเสนอถึงในวันที่ 27 มิถุนายน 2562 จากนั้นในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2562 จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนและต่อรองสัญญา ก่อนจะเสนอขออนุมัติผลการประมูลและลงนามสัญญาร่วมทุนในเดือนธันวาคม 2562

สำหรับงานโอแอนด์เอ็ม มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 9 แห่ง วงเงินลงทุนจำนวน 33,258 ล้านบาท ด้านงานโอแอนด์เอ็มมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร มีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 8 แห่ง วงเงินลงทุน  27,828 ล้านบาท

การลงทุนเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost คือรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง รวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทาง โดยเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด กรอบวงเงินการร่วมทุน

การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ออกแบบ ก่อสร้างงานระบบ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี

 

Avatar photo