Economics

เผยโชห่วยหนี้พุ่งเฉลี่ย 4.6 แสนบาท/ราย!!

“ม.หอการค้าไทย” เผยผลสำรวจ “โชห่วย” ชี้ส่วนใหญ่มองไม่จำเป็นต้องปรับตัว อึ้ง!! มีหนี้ทั้งใน – นอกระบบเฉลี่ย 462,075.86 บาท/ราย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย ว่า ปัจจุบันมีร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือโชห่วย 395,006 รายทั่วประเทศ ต่างประสบปัญหาคล้ายกัน คือ มีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่ ค้าขายออนไลน์และโมเดิร์นเทรด

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการร้านโชห่วย 1,246 ราย พบว่า 85.99% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาและ 14.01% ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดย 90.10% เป็นเจ้าของคนเดียวและส่วนใหญ่ 33.09% ทำอาชีพนี้มา 7 – 10 ปี มีรายได้เฉลี่ย 51,665.94 บาทต่อเดือนซึ่ง 60.45% มีรายได้จากการเปิดร้านโชห่วยเท่านั้นและต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 4 คน

ธนวรรธน์ พลวิชัย263621

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัว เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นและมีทุนจำกัด และ 39.77% มีการปรับตัวน้อย ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง และมีเพียง 13.12% ที่ปรับตัวอย่างมาก เพื่อจะยกระดับธุรกิจ

ส่วนต้นทุนทำธุรกิจร้านโชห่วยนั้น มาจากค่าสินค้า ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ค่าแรง ค่าขนส่ง รวมเฉลี่ยที่ 21,761.48 บาทต่อเดือน โดย 53.13% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 462,075.86 บาท ผ่อนชำระเฉลี่ย 11,681.11 บาทต่อเดือน แยกเป็นหนี้ในระบบจากสถาบันการเงิน 218,723.41 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 37,534.81 บาท และเป็นหนี้นอกระบบจากการกู้ยืมนายทุน ญาติ พี่น้อง หรือแชร์ 347,382.00 บาท ผ่อนชำระต่อเดือน 5,754.52 บาท

ทั้งนี้ ภาระหนี้ปัจจุบันทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเหตุผล เช่น นำไปขยายธุรกิจ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซื้อสินค้า ชำระเงินกู้ ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่าภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินธุรกิจ

เมื่อถามถึงความต้องการสินเชื่อ และการเข้าถึงสินเชื่อผู้ประกอบการร้านโชห่วย 38.13% ประเมินศักยภาพเข้าถึงได้มาก ซึ่งภายใน 1 ปีนี้ จำนวน 47.99% มีความต้องการสินเชื่อ และแทบทั้งหมดต้องการสินเชื่อในระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ซื้อสินค้าไปขาย ปรับปรุงร้าน ขยายธุรกิจ ชำระหนี้ วงเงินเฉลี่ยที่ต้องการ คือ 182,500 บาท โดย 57.06% บอกว่าสามารถกู้ในระบบได้ ทว่า 42.94% คิดว่าไม่สามารถจะกู้เงินในระบบได้ เพราะสาเหตุ เช่น หลักประกันไม่พอ ไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางบัญชี โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคาร เป็นกิจการใหม่ และไม่ผ่านการอนุมัติจากธนาคาร เป็นต้น

ด้านความต้องการให้สถาบันการเงินปรับปรุงเกี่ยวกับสินเชื่อ คือ ปรับลดดอกเบี้ย ขั้นตอนเงื่อนไขในการกู้ ระยะในการอนุมัติ หลักทรัพย์ค้ำประกัน และหากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบ 51.69% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น 31.16% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่ากับกำไรที่จะเพิ่มขึ้น และ 17.15% บอกว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรที่จะเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่

1.กระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
2.การลดต้นทุน การตั้งราคา และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ
3.การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรให้มีความสามารถและทันสมัย
4.ด้านการเกษตร เช่น แหล่งน้ำ คลองชลประทาน ราคาสินค้าเกษตร

พงชาญ สำเภาเงิน

นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว). หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธุรกิจร้านโชห่วยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดชุมชน มีจำนวนถึงเกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบันด้วยการแข่งขันสูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องปรับตัวยกระดับธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถธุรกิจ และเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า ยังมีผู้ประกอบการร้านโชห่วยจำนวนมาก ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย รวมถึง มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน จึงยากที่จะพัฒนาธุรกิจ

ส่วนข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจากได้แก่ ลดขั้นตอนในการทำธุรกรรม เช่น 1.การยื่นเอกสาร ข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ 2.ลดอัตราดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ 3.ปล่อยเงินกู้ระยะยาว สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพต่างๆ และ 4.มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจ และบุคลากรในองค์กร

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK