Economics

ปตท.จับมือพันธมิตรระดับโลก เดินหน้าร่วมประมูลแหลมฉบังเฟส 3

บอร์ด ปตท. ไฟเขียวเดินหน้า เข้าร่วมประมูลแหลมฉบังระยะ 3  วันที่ 29 มีนาคมนี้ เจรจาพันธมิตรระดับโลกร่วมทุนต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนมติกนป.ให้ดูดซับซีพีโอ 1 แสนตัน เพื่อดึงราคาผลปาล์ม ปตท.ขอดูมติครม.ให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ 

วันนี้ (25 มี.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) มีนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ เป็นประธาน โดยมีมติรับทราบถึงการที่บริษัทปตท.สนใจจะเข้าร่วมประมูล โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งกำหนดยื่นซองในวันที่ 29 มีนาคม และให้ดำเนินการตามแผนงาน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ และ ปตท.มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ จึงมีความพร้อมในการร่วมประมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตร

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีผู้ซื้อซองประกวดราคารวมทั้งสิ้น 34 ราย ซึ่งมีทั้งต่างชาติ และ ไทย เช่น  บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จากัด (มหาชน) และ ปตท. ซึ่งซื้อซองประมุลในนาม บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัทลูก

Mr.Chansin Treenuchagron 3 1
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า โครงการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ปตท.จะร่วมทุนกับพันธมิตร 2-3 ราย โดยปตท.ถือหุ้น 30%  เป็นส่วนการลงทุนของ บริษัท พีทีที แทงค์ ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท

โครงการนี้ จะเป็นท่าเรือทันสมัย เกิดประโยชน์ต่อประเทศ อย่างไรก็ตามต้องดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และยังต้องแข่งขันกับท่าเรือที่ 1 และ 2  ดังนั้น พันธมิตรที่ร่วมทุนจะต้องหามาช่วยปิดความเสี่ยงเหล่านี้  จึงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพระดับโลก และมีความสามารถในการบริหารจัดการ 

นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทปตท.ยังได้หารือถึงนโยบายของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีมติให้ ปตท.เข้าร่วมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ก โดยให้ร่วมซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ ) 1 แสนตัน โดยที่ประชุมเห็นว่า ควรรอให้กนป.นำเข้าครม. และเป็นมติให้ชัดเจนก่อน

เบื้องต้น ปตท.พร้อมดูดซับซีพีโอ 1 แสนตัน แต่จะนำมาใช้ในประเทศเป็นหลัก เพราะ หากส่งออกอาจเกิดปัญหา เรื่องการแข่งขัน เพราะราคาซีพีโอของไทย สูงกว่าอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้ส่งออก บี 100 เป็นไปได้ยาก

DSC 7289
ศิริ จิระพงษ์พันธ์

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการ ว่า ขณะนี้ต้องรอให้ ปตท.ศึกษารูปแบบการจัดการดูดซับซีพีโอ 1 แสนตันก่อน  ซึ่งหากให้ส่งออกบี 100 จำเป็นต้องมีเงินชดเชยจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้อุดหนุนการส่งออกซีพีโอ โดยให้เงินชดเชยการส่งออกที่ กิโลกรัมละ 1.75 บาท ถือเป็นอัตราที่ต่ำ จึงไม่จูงใจให้เอกชนส่งออก

“หากจะให้ส่งออกบี 100 ต้องอุดหนุนสูงกว่านี้ เพราะต้องผ่านกระบวนการแปรรูปจาก ซีพีโอ เป็นบี 100 และเป้าหมายใหญ่ในการดูดซับครั้งนี้ ต้องทำให้ราคารับซื้อปาล์มจากเกษตรกรต้องไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อกก.” ดร.ศิริ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เรื่องการดูดซับ ซีพีโอ 1 แสนตันนั้น  ปตท.พร้อมร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ก็ต้องดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด

Avatar photo