Economics

จ่อครม.!! แก้พ.ร.บ.กฟผ.เปิดช่องบริหารแอลเอ็นจีนำเข้า

กฟผ. แก้ พ.ร.บ. กฟผ. เปิดช่องบริหารจัดการแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน และ FSRU หลังประเทศต้องพึ่งก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าระยะยาว พร้อมประกาศลงนามสัญญาซื้อแอลเอ็นจีมิถุนายนนี้ตามแผน

IMG 20190325 125053

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้กฟผ.ได้ขอแก้ไข พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้กฟผ.สามารถบริหารเชื้อเพลิงได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่จะต้องนำเข้าหลังจากนี้ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยขณะนี้เรื่องอยู่ที่ ครม.แล้ว หากครม.ชุดนี้พิจารณาไม่ทัน อาจต้องรอครม.ชุดใหม่

การขอแก้ไขดังกล่าว เพื่อรองรับแอลเอ็นจีที่จะนำเข้า 800,000 ตัน – 1.5 ล้านตัน ซึ่งอาจเกิดกรณีแอลเอ็นจีที่นำเข้ามีปริมาณเหลือ ก็ต้องเปิดช่องให้สามารถขายออกไปได้ด้วย ขณะเดียวกันการแก้ไขพ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังเสนอให้กฟผ.เป็นผู้บริหารจัดการ โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification: FSRU) ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดด้วย

สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจี 800,000 แสนตัน ถึง 1.5 ล้านตันนั้น ยังเป็นไปตามกำหนดเวลา โดยกฟผ. จะประกาศให้มีการซื้อซอง และยื่นประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีภายในเดือนเม.ย. โดยขณะนี้มีผู้สนใจจำนวน 34 ราย

เดือนมิถุนายนนี้จะประกาศลงนามสัญญาได้ จากนั้นภายในเดือนกันยายน เรือขนส่งแอลเอ็นจีลำแรกจะมาถึงท่าเรือ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าครั้งนี้จะต้องผ่าน เงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานกำหนดให้ราคาซื้อจะต้องไม่แพงกว่าที่บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) มีสัญญาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวไว้ 4 สัญญาในปัจจุบัน

กฟผ.จะคัดเลือกเอกชนที่เสนอราคาต่ำที่สุด และส่งให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณาตัดสิน เพราะราคาซื้อขายแอลเอ็นจีใน 4 สัญญาเป็นเท่าใดนั้น เป็นความลับทางการค้า กฟผ.ไม่ทราบรายละเอียด หากซื้อในราคาแพงกว่า 4 สัญญานั้นก็ต้องยกเลิกและประมูลใหม่

ส่วนโครงการ FSRU นั้น โครงการแรกกำลังเกิดขึ้น รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี 5 ล้านตันต่อปี เป็นโครงการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเมื่อปี 2559  เพื่อนำเข้า และจัดส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ มีกำหนดแล้วเสร็จ และสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าได้ในปี 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

Avatar photo