Economics

‘BTS’ เตรียมเสนอผลตอบแทนแลกสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าชมพู-เหลืองส่วนต่อขยาย’

“BTS” เตรียมเสนอผลตอบแทน แลกสัมปทาน “รถไฟฟ้าชมพู – เหลืองส่วนต่อขยาย” คาดเปิดโต๊ะเจรจากับ “รฟม.” สัปดาห์นี้ สรุปผลเดือนหน้า

รถไฟฟ้า สีชมพู

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. อยู่ในขั้นตอนการเจรจา โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ

ทั้งนี้ รฟม. ได้เจรจากับกลุ่ม BSR ไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อแจ้งเงื่อนไขการลงทุนโครงการส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางให้รับทราบ พร้อมขอให้ BSR ยื่นข้อเสนอทั้งหมดกลับมาให้ รฟม. พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ทั้งเรื่องการดำเนินงาน การลงทุน ผลตอบแทนที่จะให้แก่รัฐ เป็นต้น หลังจากนั้นจะ รฟม. และกลุ่ม BSR จะนัดเจรจาเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงปลายสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รฟม. ยังไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมได้ เพราะต้องรอพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม BSR ก่อนจึงกำหนดท่าทีในการเจรจาต่อไป แต่คาดว่าการเจรจาคงไม่ยืดเยื้อมากนักและจะพยายามให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะเสนอผลการเจรจาให้คณะกรรมการมาตรา 43ฯ แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลบทุนในกิจการของรัฐ (PPP) กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ21
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

เดินหน้า “อีไอเอ” แล้ว

นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้ง 2 เส้นทางไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า โดยขณะนี้อีไอเอเสร็จแล้วและเตรียมเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาในเร็วๆ นี้

ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงาน ก็คาดว่าเอกชนจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที เมื่อผลการเจรจาผ่านความเห็นชอบจาก ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญคือ เอกชนจะต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน ตามกรอบเวลาของสัญญาหลัก

นายภคพงศ์ กล่าวถึงรายละเอียดการลงทุนต่อว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) มีเส้นทางจากสถานีศรีรัชเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ส่วนต่อขยาย) มีเส้นทางจากสถานีรัชดาไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟสายสีเขียวบริเวณใกล้สี่แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 7 พันล้านบาท

กลุ่ม BSR ต้องรับภาระการลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างหรือค่าเวนคืน ซึ่งเป็นไปตามหลักการของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง  และเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือนแล้ว กลุ่ม BSR ก็ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดกลับมาให้ รฟม.

รถไฟฟ้า บีทีเอส 1

เน้นเจรจาผลตอบแทนให้รัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการมาตรา 43ฯ และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีความเห็นร่วมกันว่า รฟม. ควรรับข้อเสนอและเจรจาการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองส่วนต่อขยายกับกลุ่ม BSR

โดยบอร์ด รฟม. ได้เห็นชอบแนวทางการเจรจากับ BSR จำนวน 1 แนวทาง แต่คณะกรรมการมาตรา 43  ขอให้ รฟม. พิจารณาแนวทางในการเจรจาเพิ่มอีก 1 แนวทาง เป็น 2 แนวทาง เพื่อให้การเจรจามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนประเด็นสำคัญในการเจรจาครั้งนี้คือ ผลตอบแทนที่ BSR จะให้กับภาครัฐ

“ที่ปรึกษาของ รฟม. มีการคำนวณดูว่า ถ้าในกรณีที่มีสถานีเพิ่มขึ้น จะมีผู้โดยสาร ผลตอบแทนการทางเงิน (FIRR) ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) รายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และรายได้ส่วนนั้นควรแบ่งให้ รฟม. มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องรอดูผลการเจรจา” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาระหว่าง รฟม. และกลุ่ม BSR จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562 จากนั้นจะต้องเสนอผลการเจรจาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ครม. เห็นชอบ ใช้เวลาอย่างเร็วประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายได้ประมาณปลายปีนี้

ระบบราง 190103 0009

 

Avatar photo