COLUMNISTS

 อันดับความสุขของคนไทยลดลง

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1348

คำพูดข้างต้นไม่ได้มาจาก พรรคการเมืองไหน ในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา  แต่มาจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น) ที่ แจงผล  การจัดอันดับความสุข หรือ เวิลด์ แฮปปีเนสส์  รีพอร์ต 2019 ซึ่งทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 โดยสำรวจจาก 156 ประเทศทั่วโลก  

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา อ้างรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า การจัดอันดับความสุขรอบนี้ ประเทศฟินแลนด์ ครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยดนมาร์ก นอร์เวยไอซ์แลนด์  เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ แคนาดา  และอันดับ10 ออสเตรีย

ข้อมูลจาก เวิลด์ แฮปปีเนสส์ ระบุด้วยว่า กลุ่มประเทศยุโรปหลักที่ไม่ได้อยู่ใน กลุ่มท็อปเทน อันดับความสุขไล่เรียง ตามลำดับดังนี้ อังกฤษ อันดับ 15 เยอรมัน อันดับ 17 เบลเยี่ยม อันดับ 18 ฝรั่งเศส อันดับ 20 สเปญ อันดับ 30 อิตาลีอันดับ 36

ส่วนสหรัฐ อันดับความสุขของประเทศมหาอำนาจรายนี้ ลดมาอยู่อันดับ 18 จากอันดับ 19 ในปีก่อนหน้า สื่อรายงานประเด็นนี้ว่า เนื่องจากชาวบ้านกังวลเรื่องช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย และกังวลเรื่อง ความปลอดภัยเป็นต้น

มาดูกลุ่มลาตินอเมริกา ชิลี อยู่อันดับ 26 บราซิล อันดับ 32 อาร์เจนตินา อันดับ 47 เวเนซุเอลา อันดับ 108        

ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อันดับดีที่สุด 28 ตามด้วยกาตาร์ อันดับ 29 บาห์เรน  อับดับ 37 ขณะที่ซีเรีย อยู่อันดับที่ 149 ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่ม“รั้งท้าย”

เอเชียใต้ ปากีสถาน อันดับ 67 อินเดีย อันดับ 100 ภูฐาน อันดับ  95  และเนปาลอันดับที่ 100 พอดี

เอเชียตะวันออก ไต้หวัน อันดันดับ 23 (สูงสุดในเอเชีย)  กลุ่มประเทศเศรษฐกิจแถวหน้าของเอเชีย  เกาหลีใต้ อันดับ ที่ 54  ญี่ปุ่น อันดับที่  58 และจีน อันดับที่ 93

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การจัดอันดับ รอบนี้ สิงคโปร์  ครองอันดับดีที่สุด อันดับที่ 34 รองลงมาไทย อันดับ 52 ตามด้วยฟิลิปปินส์ อันดับ  69  มาเลเชีย อันดับ 80  อินโดนีเซีย อันดับ 92 เวียดนาม อันดับ 94 สปป.ลาว อันดับ105  กัมพูชา อันดับ 109 และเมียนมาร์ อันดับ131   

สำหรับประเทศไทย  อันดับความสุขปีนี้ลดลงจากอันดับ 46 ในปี 2561 และลดลงต่อเนื่องจากช่วงปีก่อนหน้านี้โดยปี 2556 ไทยอยู่อันดับ 36 ปี 2558 อันดับ 34 ปี 2559 อันดับ 33 และปี 2560 อันดับ 32

ส่วนกลุ่มประเทศที่ ครองอันดับความสุขในกลุ่มรั้งท้ายของโลก  อาทิ ซิมบับเว อันดับ 146 เฮติ อันดับ 147 บอตสวานา อันดับ 148 มาลาวี อันดับ 150 เยเมน อันดับ 151 รวันดา อันดับ 152 แทนซาเนีย อันดับ 153  อัฟกานิสถาน อันดับ 154 สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อันดับ 155 และ เซาท์ ซูดาน คือประเทศที่ มีความสุขอันดับท้ายสุดของโลก คือ อันดับที่ 156   

รายงานข่าวอ้างสาเหตุที่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง  มาจากปัจจัยหลักๆ อาทิ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น  รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น   

หากดูจากอันดับความสุขข้างต้นแล้ว คงไม่สามารถรวบรัดสรุปว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีเศรษฐกิจเข็มแข็งจะเป็นประเทศที่มีความสุขมาก หรือประเทศที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม จะไม่มีความสุขเลย ทุกประเทศยังมีความสุขเพียงแต่มาก น้อย ต่างกันเท่านั้น  

ปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีการจัดทำดัชนีวัดความสุขชาวบ้าน กันอย่างจริงๆจังๆ จีดีพีความสุข ที่เคยเห่อเมื่อหลายปีก่อน ก็เงียบสนิทไปนานแล้ว  การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอวิธี เติมเงินในกระเป๋า แต่ไม่มีพรรคไหนพูดเลยว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความสุขเพิ่มขึ้น

ส่วนความสุขของคนไทย หลังได้รัฐบาลใหม่ จะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นเรื่องต้องติดตาม สำนักทำโพลล์ ที่ชอบสำรวจ คะแนนนิยม และคาดการณ์ผลแพ้ชนะ น่าจะปรับมาสำรวจความสุขของคนไทยก่อนและหลังการเลือกตั้งดูบ้าง เพราะในช่วงหาเสียงสองสามเดือนที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างยัดเยียด ทั้งนโยบายและความคิด สร้างความเครียดให้ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงโดยถ้วนหน้า  

ไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ลำดับแรกที่ควรจะทำทันที คือถามชาวบ้านว่า มีความสุขหรือไม่ กับสิ่งที่เป็นอยู่ และดูโฉมหน้า คณะรัฐมนตรี แล้วความสุขเพิ่มขึ้นหรือลดลง