Business

ผุดศูนย์ฝึก ‘คนขับรถไฟฟ้า’ มาตรฐานญี่ปุ่น ป้อนความต้องการ 2.5 พันคนใน 5 ปี

รฟม. ผุดศูนย์ฝึกอบรม “คนขับรถไฟฟ้า” มาตรฐานญี่ปุ่น ป้อนความต้องการ 2.5 พันคนใน 5 ปี ด้านกรมรางฯ รับหน้าที่ออก “ใบขับขี่รถไฟฟ้า” คาดพนักงานต้องสอบจิตวิทยาเพิ่มเติม

ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า 5

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลาการระบบราง (Training Center) ณ อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี วันนี้ (22 มี.ค.) ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรระบบราง (Training Center) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรในระบบรางให้มีทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยีรถไฟฟ้า รวมถึงเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

ทั้งนี้ รฟม. ได้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าคลองบางไผ่ ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน สำหรับเป็นสถานที่จัดฝึกอบรม โดยเป็นอาคาร 2 ชั้น ภายในประกอบด้วยห้องฝึกอบรมภาคทฤษฎี 4 ห้อง ห้องฝึกอบรมภาคปฏิบัติ 3 ห้อง, ห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง, ห้องสอบภาคทฤษฎี 1 ห้อง และสำนักงาน 1 ห้อง รวมทั้งมีอุปกรณ์จำลองการขับเคลื่อนและอุปกรณ์สำหรับฝึกใช้งาน

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันศูนย์ฝึกอบรมฯ จะมีทั้งหมด 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรขับขี่รถไฟฟ้า และผู้ควบคุมระบบราง ค่าใช้จ่ายคนละ 18,000 บาท ระยะเวลาอบรมอยู่ที่ 230 ชั่วโมงต่อหลักสูตรและสามารถผลิตบุคลาการได้รุ่นละ 30 คน

ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า 3

หลักสูตรมาตรฐานญี่ปุ่น

รฟม. ได้ความรับร่วมมือจากโตเกียว เมโทร (Tokyo Metro) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์มากว่า 90 ปี และมีโรงเรียนสอนขับรถไฟฟ้าใกล้ๆ กรุงโตเกียว เข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตก็จะมีหลักสูตรอื่นๆ มากขึ้น เช่น พนักงานบำรุงรักษาระบบรถและระบบราง การซ่อมบำรุงในสถานการณ์คับขันหรือในอุโมงค์ เป็นต้น

“ผมหวังว่าจะมีการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันสำหรับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การรถไฟฯ และในเชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงก็จะมีสถานที่ฝึกอบรมสำหรับผู้ขับรถไฟความเร็วสูงในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของระบบขนส่งมวลชนประเทศไทย” นายไพรินทร์กล่าว

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า ในระยะเริ่มต้นศูนย์ฝึกอบรมฯ จะเปิดอบรมเฉพาะพนักงานของผู้ให้บริการรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันในตำแหน่งพนักงานควบคุมรถไฟฟ้า และหัวหน้าพนักงานควบคุมการเดินรถ ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะสามารถนำใบรับรองผลการฝึกอบรม ไปประกอบการขอใบอนุญาตจากขับขี่รถไฟฟ้าได้

นอกจากนี้เชื่อว่า ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรแห่งนี้น่าจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ใหม่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งต่อไปก็สามารถเป็นทางเลือกให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้ในการฝึกอบรมได้ด้วย เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่กำลังจะเปิดให้บริการรถไฟใต้ดินสายแรก ประเทศกัมพูชาและเวียดนามที่กำลังจะมีรถไฟฟ้าสายแรกเช่นกัน

ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า 9
บรรยากาศภายในศูนย์ฝึกอบรมบุคลาการระบบราง

จดทะเบียนขบวนรถ

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางอย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว กรมการขนส่งทางรางก็จะทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานระบบขนส่งทางรางทั้งหมด รวมถึงกำหนดหลักสูตรและคุณสมบัติของพนักงานในตำแหน่งต่างๆ และออกใบขับขี่รถไฟฟ้าด้วย เช่น  พนักงานขับขี่รถไฟฟ้าในต่างประเทศ นอกจากจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมขับขี่รถไฟฟ้าแล้ว ก็ต้องผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาเหมือนผู้ขับขี่ยานพาหนะสาธารณะอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางรางจะต้องดำเนินการจดทะเบียนขบวนรถไฟฟ้า เหมือนรถยนต์สาธารณะหรือเครื่องบิน เพื่อกำหนดมาตรฐานรถไฟฟ้าที่นำมาให้บริการในประเทศไทยด้วย

ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า 6
บรรยากาศภายในศูนย์ฝึกอบรมบุคลาการระบบราง

รถไฟฟ้า 10 สาย ต้องการคนขับ 2.5 พันคน

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพนักงานขับรถไฟฟ้ารวม 680 คน แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการลงทุนรถไฟฟ้า 10 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับปี 2562 คาดว่าความต้องการพนักงานขับรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 980 คน, ปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 คน และในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี  2567 คาดว่าความต้องการพนักงานขับรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 คน โดยพนักงานขับรถไฟฟ้าจะมีเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 บาท

ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า2
บรรยากาศภายในศูนย์ฝึกอบรมบุคลาการระบบราง
ศูนย์ฝึกอบรม รถไฟฟ้า 11
บรรยากาศภายในศูนย์ฝึกอบรมบุคลาการระบบราง

Avatar photo