Wellness

3 เขตกทม.ทำสกอร์สูงสุด เมือง ‘GoodWalk’

ทุกทฤษฎีเห็นพ้องถึงข้อดีของการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการ “เดิน” วิธีออกกำลังที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และทำได้ทุกสถานที่ การ “เดิน” ต่อเนื่อง 20-30 นาที 3-5 สัปดาห์ต่อวันเป็นอย่างน้อย เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งช่วยการทำงานของหัวใจ และปอด เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อต่างๆ ลดน้ำหนัก ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน รวมถึงช่วยคลายเครียด

446

แต่จะมีสักกี่ที่ ที่เหมาะกับการเดินออกกำลังกาย นอกจากต้องไปสวนสาธารณะเท่านั้น โดยเฉพาะในกรุงเทพที่หลายคนเข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียว ข้อมูลของสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. ปี 2560 พบว่าคนกรุงเทพ มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยคนละ 6.43 ตร.ม. นอกจากนี้ยังขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ( Public Space ) ที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย และข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปี 2560 เช่นเดียวกัน พบชุมชนแออัดในกรุงเทพถึง 668 แห่ง

ขณะที่มีข้อมูลมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก บอกว่า เมืองที่ดี ควรมีพื้นที่สีเขียวคนละ 9 ตร.ม. นอกจากคนกรุงเทพจะไปไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานแล้ว พื้นที่สีเขียวที่ครองยังมีแนวโน้มต่ำลง เพราะองค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2593 ประชากร 66% ของโลกจะเคลื่อนย้ายมาอยู่ในเขตเมือง รวมถึงกรุงเทพ ที่เป็นเป้าหมายของผู้ที่ต้องการหางานทำจากคนไทยทั่วประเทศ และคนจากชาติอื่นๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ??

“เราจะรอถึงวันนั้นหรือไม่ ในวันที่เมืองป่วย และคนป่วย ” เป็นที่มาให้เกิดการกระตุ้นสังคมอย่างจริงจัง เพื่อปรับปรุงเมืองให้มีสุขภาวะ สามารถเดินเหินไปไหนอย่างปลอดภัย ลดการใช้ยานพาหนะ  ลดสาเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และสร้างสภาพแวดล้อมในการออกกำลังกายด้วยการเดิน

ศูนย์ออกแบบ และพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ได้จัดทำโครงการ  ” GoodWalk Thailand ”  เป้าหมายรณรงค์ให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน โดยทำการสำรวจเมือง “เดินดี เดินได้ “GoodWalk” เป็นกลไกของการณรงค์ นำร่องเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่กรุงเทพ และกำลังขยายไปสำรวจ และให้สกอร์ในเมืองอื่นๆ ของจังหวัดต่างๆด้วย

ในส่วนของกรุงเทพ UddC ได้ออกสำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่าง แบ่งการศึกษาเป็น 3 ระยะ

ระยะ 1 ศึกษาเมือง “การเดินได้” ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่าง

ระยะ 2 นำพื้นที่ตัวอย่างมาศึกษาเชิงลึก เพื่อพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า

ระยะที่ 3 เสนอแนวทางการออกแบบ และปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่างไปพร้อมๆกับการประสานภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

6 เกณฑ์ให้สกอร์เมืองเดินดี

UddC กำหนดสกอร์ที่ให้สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่าง ให้ใกล้สถานที่ดังต่อไปนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นพื้นที่ “เข้าถึงด้วยการเดิน” ประกอบด้วย

  1. สถานที่ขนส่งสาธารณะ
  2. แหล่งจับจ่ายใช้สอย
  3. สถานศึกษา
  4. พื้นที่นันทนาการ
  5. สถานที่บริการสาธารณะ และธุรกรรม
  6. แหล่งงาน

3 เขตเหมาะการเดิน

โดยเขตที่ได้สกอร์เฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับเป็นเมืองเดินดี ได้แก่

426 1

428

1. เขตบางรัก เนื่องจากเป็นเขตที่มีย่านพาณิชยกรรมหลักของกรุงเทพ ได้แก่ ย่านสีลม-สาทร และย่านบางรักอยู่ในพื้นที่ จึงมีค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทแหล่งจับจ่ายใช้สอย สถานที่บริการสาธารณะ และธุรกรรม และแหล่งงานสูง ปัจจัยสำคัญทำให้ GoodWalk Score โดดเด่นกว่าเขตอื่นๆ รวมถึงค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทสถานที่ขนส่งสาธารณะก็สูง ด้วยเหตุที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตบางรักเป็นพื้นที่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้ง BTS และ MRT

2. เขตปทุมวัน เป็นพื้นที่ที่มีย่านพาณิชยกรรมหลักของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ย่านสยาม-ปทุมวัน และย่านราชประสงค์ ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิร์ล และมีย่านพาณิชยกรรมสำนักงานสำคัญ ได้แก่ ย่านถนนวิทยุ อยู่ในพื้นที่ จึงมีค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทแหล่งจับจ่ายใช้สอย สถานที่บริการสาธารณะ และธุรกรรม อยู่ในเกณฑ์สูง และ

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานศึกษากระจุกรวมกันอยู่หลายแห่งในบริเวณโดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนทางราง ค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทสถานศึกษา และสถานที่ขนส่งสาธารณะ จึงอยู่ในระดับสูงที่สุดด้วย

3. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องจากบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในย่านการค้าเยาวราช และมีย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญอื่นๆ อาทิ ย่านนางเลิ้ง ย่านสวนมะลิ ย่านโบ๊เบ๊ (บางส่วน) อยู่ในพื้นที่ จึงมีค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทแหล่งงาน แหล่งจับจ่ายใช้สอย สถานที่บริการสาธารณะ และธุรกรรม อยู่ในเกณฑ์สูง

นอกจากนั้นยังมีสถานศึกษาหลายแห่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ จึงทำให้ค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทสถานศึกษาสูงไปด้วย แต่เนื่องจากการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนทางราง ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ค่าคะแนนเฉลี่ยประเภทสถานที่ขนส่งสาธารณะจึงต่ำกว่าเขตอื่นๆ ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร

433

435

ถนนเดินได้ 6 เส้นทาง

ส่วนการจัดอันดับถนนในกรุงเทพที่ได้ชื่อว่า “เดินได้เดินดี” 6 อันดับ ประกอบด้วย

1. ถนนราชวงศ์

2. ถนนจักรพงษ์

3. ถนนพระรามที่ 1

4. ถนนสีลม

5. ถนนพระอาทิตย์

6. ถนนเยาวราช

S 41558094 ตัดใหม่ 1
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UddC ระบุว่า จากการสำรวจเขตกรุงเทพ พบคนกรุงเทพ สามารถใช้การเดินเท้าไปที่ต่างๆ เฉลี่ยไกลสุดเพียง 800 เมตร และมีย่านที่เดินได้เพียง 11%  มีถนนเดินได้ 134 เส้นทาง คิดเป็น 14% จากถนนที่มีการสำรวจทั้งหมด 965 เส้นทาง

แต่จริงๆแล้ว จาก 50 เขตของกรุงเทพ มีถึง 17 เขตที่เข้าเกณฑ์เดินได้ไกลกว่านั้น และ “เดินดี” โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ แต่ก็เดินไม่ได้  หากไปดูตัวอย่างเมืองสวยๆ ในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น หรือปารีส และลียง ประเทศฝรั่งเศส มีการจัดการแตกต่างจากไทยทำให้เมืองเหล่านี้เป็นเมืองเดินดี เช่น ในเมืองลียง โดยเราพบว่าปัจจัยหนุนเสริมของเขา มาจากรัฐบาลสร้างกลไกทำงานร่วมกับเอกชน และให้ความสำคัญกับการเปิดช่องทาง และเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การสร้างสนามบิน พิพิธภัณฑ์ รถใต้ดิน

ดังนั้นรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารในอนาคตของไทย ควรทลายคอขวดของประเทศ ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้เข้ามาบริหารจัดการตามบริบท และสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพที่มีอยู่ 50 เขต  จะต้องปลดล็อกให้ผู้อำนวยการเขต มีความเป็นอิสระในการจัดการเขตตัวเองมากขึ้น เพราะอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รู้ว่าจะต้องทำอะไรในเขตนั้นๆ แต่ทุกอย่างกลับขึ้นอยู่กับผู้ว่ากรุงเทพ

“ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพทั้งหมด ไม่มีอำนาจจัดการอะไรด้วยตัวเอง ทำให้กรุงเทพไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ  จึงไม่สามารถพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น”

การที่ต้องเสนอให้เร่งบริหารจัดการเมืองนั้น ผศ.ดร.นิรมล ย้ำว่า เมืองมีผลต่อพฤติกรรมของคน เพราะการใช้ชีวิตของประชากรในเมืองมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เมืองเป็น ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองที่สภาพทางเดิน และสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเดิน ดังนั้นประชาชน จึงต้องใช้รถยนต์เป็นหลักในการเดินทาง ก่อให้เกิดไอเสียจากรถยนต์ และเป็นต้นเหตุสำคัญของมลพิษ เป็นที่มาของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในท้ายที่สุด และขาดการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน

หากย้อนกลับไปมองภาพในอดีตของปารีสเอง ก็เคยเกิดปัญหาจากมลภาวะ ฝุ่นละออง เพราะการขยายตัวของประชากร รวมถึง  การใช้รถยนต์เช่นกัน แต่เมื่อมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเมือง ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การทำทางเดินบริเวณทางด่วนริมแม่น้ำ การพัฒนาทางเท้าบนย่านชอปปิ้ง ถนนฌ็องเซลิเซ่ การขยายทางเท้าปรับพื้นที่จากทางเท้าแคบๆ ให้กว้าง การมีไฟส่องสว่าง มีโครงการแบ่งปันการใช้จักรยาน ซึ่งทั้งหมดมีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมือง ที่เอื้อให้คนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

“ ยืนยันว่ากรุงเทพ และเมืองใหญ่ในจังหวัดต่างๆ สามารถดำเนินการได้ แต่รัฐบาลต้องกระจายอำนาจการจัดการเมืองให้พื่้นที่อย่างแท้จริง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับต่างจังหวัด และเขตต่างๆสำหรับกรุงเทพ รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดเป้าหมาย และพัฒนาเมืองด้วยกัน ”

วันนี้ UddC จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อม ให้กรุงเทพและเมืองใหญ่ต่างๆเป็นเมืองที่มีสุขภาวะ สามารถทำให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรม “เดิน” ได้อย่างปลอดภัย โดยมี “นครสวรรค์” ออกมาถ่ายทอดประสบการณ์เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นจริงได้เสมอ

S 41558095
จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ

ผู้บริหารเทศบาลนครสวรรค์เป็นตัวอย่าง

นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ บอกว่า อุปสรรคของการพัฒนาเมืองในมุมมองของท้องถิ่น คือความไม่เป็นอิสระ เนื่องจากถูกกำหนดทิศทางการบริหารมาจากส่วนกลางเกือบหมด ขณะที่งบประมาณก็ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการตามบริบทพื้นที่

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ว่าควรจริงใจกับการการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการทำงาน เพราะท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับชุมชน เข้าใจงาน และสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดีกว่า

“ในอดีต ความเป็นเมืองของเทศบาลเมืองนครสวรรค์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด ปริมาณขยะ น้ำท่วม ความแออัดของที่อยู่อาศัย “

แต่จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไข มีการดำเนินนโยบายที่สำคัญต่างๆ จากการริเริ่ม และร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เช่น การฝังกลบขยะ เพื่อลดมลพิษ การจัดการน้ำเสียให้ได้มาตรฐานน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ การพัฒนาระบบน้ำประปาให้มีคุณภาพจนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ด้านน้ำ) ในปี 2557

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอุทยานสวรรค์ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมถึงสร้างเมืองจักรยาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นด้วย

“งานการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มต้นมาจากภาคชุมชน และภาคเอกชนเสนอความต้องการมา ในฐานะนายกเทศมนตรีผมนั่งหัวโต๊ะ เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกัน คอยประคับประคองให้งานสำเร็จตอบสนองความต้องการของประชาชน  การพัฒนาเมืองสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน” นายจิตตเกษมณ์ กล่าว

S 41558098
พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

ภาคเอกชนมีบทบาทพัฒนาเมือง

แต่ทำไมหลายๆเมือง ทำไม่ได้อย่างนครสรรค์ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เฉลยว่า ในอดีตภาคเอกชนกับภาครัฐ มักแบ่งบทบาทการทำงานกันอย่างชัดเจน คือภาคเอกชนมีหน้าที่ทำธุรกิจ ส่วนภาครัฐจะเป็นฝ่ายจัดทำนโยบายพัฒนาเมือง

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชัดเจนว่า การผลักภาระให้ภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เมืองขยายตัวเร็วมาก และภาครัฐก็มีงบประมาณจำกัด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน และภาคธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองอีกทางหนึ่ง

โดยเฉพาะภาคเอกชน เป็นภาคส่วนสำคัญ ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากสภาพเมืองป่วย หากคุณภาพของเมืองไม่ดี ไม่มีสุขภาวะ ผู้อยู่อาศัยก็จะมีสุขภาพไม่ดีตามไปด้วย เงินที่หามาได้ก็ต้องหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย เอกชนก็ขายสินค้าไม่ได้ ดังนั้นคุณภาพเมืองย่อมส่งผลต่อทุกๆ สมาชิกในเมืองไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ภาคเอกชน จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยปัจจุบันภาคเอกชนได้ร่วมกันตั้ง บริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น ” 

แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา การเข้าไปมีบทบาทร่วมพัฒนาเมืองของภาคเอกชนไม่ใช่เรื่องราบรื่น เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากความเข้าใจ การยอมรับ ตลอดจนกฎระเบียบอันเข้มงวดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนต้องใช้เวลา และความอดทน ในการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างเมืองที่มีสุขภาวะดี

S 41558096
ภารนี สวัสดิรักษ์

ร่วมมือทุกภาคส่วนป้องกันเมืองป่วย

ขณะที่นางภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 ฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้ จะต้องเร่งดำเนินงานพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยต้องไม่แยกเรื่องสุขภาพออกจากความเป็นเมือง และไม่มองเรื่องการพัฒนาเมืองเป็นเพียงการก่อสร้าง หรือความทันสมัยที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงมิติของสุขภาพและสังคมไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้เมืองเหมือนกับร่างกายของมนุษย์ ที่เจ็บป่วยได้หลายรูปแบบจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลทั้งในเชิงพื้นที่ พฤติกรรม กิจกรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนับเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพเมือง ซึ่งมีอยู่ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. พฤติกรรมของคนและสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ความเร่งรีบของวิถีชีวิต ที่ก่อความเครียดจนสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่งขาดการออกกำลังกาย และขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ

2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การจัดการขยะ น้ำเสีย และฝุ่นควันจากการจราจร

3. สิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้ ทิศทางลม การจัดการที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว  เป็นต้น โดยทั้งหมดสัมพันธ์กับอาการป่วยไข้ของเมืองทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามปัญหาของเมืองมีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จำเป็นต้องสานพลังทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไข ที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2559 มีฉันทมติเรื่อง “การจัดและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” เพื่อระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือ เร่งสานพลังเพื่อสร้าง “เมืองสุขภาวะ” นับจากนี้ปัญหาของเมืองที่เลวร้ายลง และกำลังมีรัฐบาลใหม่ ถึงเวลาที่ทุกภาคต้องมาช่วยกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ขอบคุณภาพเมืองจาก เว็บไซต์ www.goodwalk.org

Avatar photo