Startup

ซื้อเองขายเอง!! ‘Triip’ เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ ใช้เงินดิจิทัลซื้อข้อมูลลูกค้าไปขายต่อ

สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวเวียดนาม ‘Triip’ เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ เสนอใช้เงินดิจิทัลซื้อข้อมูลเดินทางลูกค้าผ่านทางเทคโนโลยี นำข้อมูลขายต่อโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ

triip

Triip ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ แต่มีฐานการดำเนินงานหลักอยู่ที่นครโฮจิมินห์ ของเวียดนาม จะใช้สกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง “TriipMiles” เข้าซื้อข้อมูลของลูกค้า ในเรื่องเกี่ยวแผนการเดินทางที่จะเกิดขึ้น ซึ่งลูกค้าสามารถใช้เงินดิจิทัลนี้ ไปหักลบกับค่าใช้จ่ายในการจองบริการต่างๆ ผ่านทางTriip ส่วนข้อมูลที่ได้มานั้น บริษัทจะนำไปขายให้กับโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ให้บริการในด้านต่าง ซึ่งจะนำข้อมูลนี้ไปใช้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการโฆษณา

ที่สุดแล้ว Triip หวังว่า จะสร้างระบบนิเวศสำหรับผู้ให้บริการ เพื่อให้ยอมรับการชำระเงินดิจิทัลTriipMiles สำหรับบริการของตัวเอง

การริเริ่มดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในรายแรกๆ ของอุตสาหกรรมการเดินทางที่จะจ่ายเงินดิจิทัลสำหรับข้อมูลที่ได้รับมานั้น เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นถึงวิธีการที่ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีโลก อย่าง เฟซบุ๊ก และกูเกิล หาประโยชน์ และจัดการกับข้อมูลของสมาชิก

“ธุรกิจจำนวนมากจ่ายเงินมากมายให้กับกูเกิล และเฟซบุ๊ก เพื่อนำข้อมูลของพวกคุณไปใช้ในกการโฆษณา และก็ไม่ได้ให้อะไรพวกคุณคืนกลับมาเลย” ไห่ โฮ ซีอีโอ Triip ระบุ

ceo1
ไห่ โฮ ซีอีโอ Triip

เขาบอกว่า บริษัทของเขาต้องการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้น ถ้าหากว่าบริษัทของเขาได้รับเงินจากธุรกิจ 10 ดอลลาร์ บริษัทก็จะเก็บไว้ 5 ดอลลาร์ และให้เจ้าของข้อมูลอีก 5 ดอลลาร์ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ยุติธรรมดี

แม้ฟีเจอร์บางอย่างของ Triip จะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่โฮบอกว่า มีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนของบริษัทไปแล้วถึง 50,000 ครั้ง ซึ่งบริษัทตั้งเป้าที่จะให้มีผู้ดาวน์โหลดถึง 1 ล้านครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งบริษัทยังได้นำเสนอระบบให้กับแอพพลิเคชันของบริษัทรายที่ 3 อย่าง พิคแม็กซ์ แอพพลิเคชันแชร์รูปภาพของอินโดนีเซียด้วย

นักลงทุนของTriip รวมถึง โกบี พาร์ทเนอร์ส กองทุนด้านการลงทุนเงินทุนของจีน รวมถึงไกแอ็กซ์ บริษัทด้านการลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งโฆษกของไกแอ็กซ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญซึ่งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจแบ่งปัน

โฮ บอกด้วยว่า ข้อมูลผู้ใช้งานที่แชร์อยู่บนแพลตฟอร์มของTriip จะมีความปลอดภัย เพราะมีการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการจัดเก็บ

triippppp

บริการใหม่ดังกล่าวยังเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่บริษัทจำนวนมากกำลังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมเดินทางออนไลน์เอเชีย ที่เฟื่องฟูอย่างมาก โดยเมื่อปีที่แล้ว KLook สตาร์ทอัพสัญชาติฮ่องกง ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันสำหรับจองกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ระดมทุนได้ 200 ล้านดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นกระเป๋าหนักราย อื่นๆ รวมถึง ทราเวโลกา (Traveloka) ของอินโดนีเซีย และยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง บุ๊กกิ้ง โฮลดิ้งส์

แม้ Triip จะมีขนาดเล็กกว่ามาก แต่บริษัทก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการมุ่งเน้นไปที่บริการที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยสตาร์ทอัพรายนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 นำเสนอแพคเกจเดินทางไปยังสถานที่เฉพาะ อย่าง ภูฏาน และซีเชลส์ ราคาขั้นต่ำ 2,000 ดอลลาร์ โดยมุ่งเจาะกลุ่มคนฐานะมั่งคั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโฮบอกว่า เมื่อปีที่แล้ว บริษัทมีรายได้ 1.4 ล้านดอลลาร์ และว่า ธุรกิจของเขาทำกำไรได้แล้ว

เขาบอกด้วยว่า ความสนใจในบริการของ Triip ค่อนข้างมาก เพราะทั้งผู้บริโภค และธุรกิจต่างก็รู้สึกไม่มีความสุดกับประสบการณ์ทางการเดินทางอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด อาทิ การจ่ายค่าธรรมเนียมค่อนข้างสุงสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทบัตรเครดิต

Avatar photo