Finance

จับตา!! ‘พานทองแท้’ โผล่ถือหุ้น ‘PR9’

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มตระกูลชินวัตร ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเกือบทุกบริษัท ยกเว้นการถือครองหุ้นของ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ไว้ ซึ่งการถือครองหุ้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงและมีการถือลงทุนโดย แพทองธาร ชินวัตร จำนวน 1,216.14 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.10% รองลงมาเป็น พินทองทา ชินวัตร 1,176.91 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.16% บรรณพจน์ ดามาพงศ์ 201.23 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.81 % และ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 117.10 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.80%

ต่อมาเมื่อ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 บริษัทประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลพระรามเก้า” ได้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป(IPO) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 แต่ในส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกไม่ปรากฏการถือครองหุ้นของกลุ่มตระกูลชินวัตร แต่มีเพียงรายชื่อของคุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้น 292.06 ล้านหุ้น คิดเป็น 37.44 %

กลุ่มตระกูลชินวัตรถือหุ้นPR9 01

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 “PR9” ได้ปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น เพื่อประชุมสามัญประจำปี 2562 พบว่า บุตรของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรีได้ปรากฏรายชื่อการถือครองหุ้นดังกล่าว โดยถือผ่าน พานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 5 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.64% แพทองธาร ชินวัตร จำนวน 5 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.64% พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ จำนวน 5 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.64% ขณะที่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นจำนวน 292.06 ล้านหุ้นคิดเป็น 37.14%

จากข้อมูลดังกล่าว ถือว่าอาจจะเป็นการบ่งชี้ของการเคลื่อนไหวของตระกูลชินวัตรครั้งใหม่ ที่อาจหวนคืนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างเปิดเผยอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไปหลายปี

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การที่ตระกูลชินวัตรปรากฏรายชื่อการถือหุ้น “PR9” เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากคนในสังคมส่วนใหญ่จะรับรู้ว่าคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว และอาจเป็นไปได้ว่าบุตรชายและบุตรสาวได้ถือหุ้นตั้งแต่แรก เพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นต่ำกว่าผู้ถือหุ้นอันดับก่อนหน้า จึงไม่ได้ปรากฏในรายชื่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งก่อน

สำหรับการเคลื่อนไหว “PR9” ตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาหุ้นเคยปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 12.80 บาท ต่ำสุดที่ 9.95 บาท และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.97 บาท  ตอนนี้อยู่ที่ 11.10 บาท ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าระดับราคาไอพีโอ 11.60 บาทต่อหุ้น

นอกจากนี้ รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มา “PR9” โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ซึ่งเป็นการได้มา เมื่อวันที่ 8 กุมพาพันธ์ 2562 จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มาคิดเป็น 0.61% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น 5.49% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

ประวัติการถือครองหุ้น 01

ขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า แนวโน้มไตรมาส 1 ปี 2562  รายได้ยังเติบโตจากงวดเดียวกันปีก่อน แค่ยังมีค่าใช้จ่ายกดดันอัตรากำไร ฝ่ายวิจัยคาดกำไรปกติในปี 2562 – 2563 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงพยาบาลที่ 11% เพราะโรงพยาบาลอื่น ผ่านช่วงการลงทุนขนาดใหญ่ไปแล้ว  โดยคาดรายได้โตตามการเพิ่ม Capacity แต่ประสิทธิภาพในการทำกำไร ใน 1 – 2 ปีข้างหน้า คาดถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากค่าเสื่อมราคาการเปิดใช้อาคารใหม่ ต้นทุนในการดำเนินงานและค่าบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้อัตรากำไรปกติคาดทำได้เพียงทรงตัวในปี 2562 ที่ 10% และลดลงเล็กน้อยเหลือ 9.9% ในปี 2563

สวนทางกับ บล.บัวหลวง ระบุว่า “PR9” มีแนวโน้มกำไรเติบโตโดดเด่นในปี 2562 ซึ่งฝ่ายวิจัยมองข้ามกำไรปี 2561 ของ “PR9” ที่ถูกกดดันโดยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีและค่าใช้จ่ายพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (แนวโน้มไตรมาส 4 ปี2561 อ่อนแอ โดยคาดขาดทุนสุทธิเนื่องจากรายการพิเศษจาก IPO)

ฝ่ายวิจัยคาดกำไรหลักในปี 2562 จะเติบโตแบบก้าวกระโดด 23% (กำไรสุทธิโต 123%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 10% ในกลุ่มการแพทย์ที่เราให้คำแนะนำ โดยนอกจากฐานต่ำในปี 2561 ปัจจัยหนุนยังได้แก่ รายได้ที่เติบโตดี 13% และการขยายตัวของอัตรากำไร กำไรหลักในช่วงครึ่งแรกปี 2562 คาดเติบโตดีกว่ากลุ่มที่ 25 – 30% จากงวดเดียวกันปีก่อน เทียบกับค่าเฉลี่ยการเติบโตของกำไรของกลุ่มการแพทย์ที่เติบโตเพียงเลขหลักเดียว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight