Technology

‘โดรน-เอไอ-คลาวด์’ หนุนญี่ปุ่นเพิ่มประสิทธิภาพอุตฯ ประมง

ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในญี่ปุ่น กำลังนำเทคโนโลยียุคใหม่ อย่างโดรน ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และคลาสด์ คอมพิวติ้ง เข้ามาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย  และปรับปรุงการทำงาน ในช่วงเวลาที่ความต้องการอาหารทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

https s3 ap northeast 1.amazonaws.com psh ex ftnikkei 3937bb4 images 6 6 3 5 18765366 1 eng GB 20190107shrinp

 

การเลี้ยงสัตว์น้ำมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้น จากการที่สัตว์น้ำตามธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก เพราะการทำประมงที่มากเกินไป ส่งผลมให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเหล่านี้ จำเป็นต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และประชากรวัยทำงานลดลงอย่างมาก

บรรดาบริษัทเทคโนโลยี และโทรคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น รวมถึง ชาร์ป เคดีดีไอ และเอ็นอีซี ต่างสนใจที่จะพัฒนาโซลูชันไฮเทค สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจใหม่ ในช่วงเวลาที่ธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทขยายตัวได้น้อยลง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้แก้ไขกฎหมายประมงของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อเปิดทางให้บริษัทจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามายังธุรกิจประมง เปิดกว้างรับการพัฒนาสำหรับการทำประมงอัจฉริยะ

ในเดือนเมษายนนี้ เอ็นอีซี มีแผนที่จะทำตลาดเทคโนโลยีสำหรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัท หลังจากร่วมมือกับนิปปอน ซุยซัน คาอิชา ทดลองเทคโนโลยีนี้มานานหลายเดือนแล้ว

เอ็นอีซีกำลังทดลองเทคโนโลยีที่ว่านี้ อยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดมิยาซากิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งมีบ่อเลี้ยงปลาหางเหลืองราว 200 บ่อ ซึ่งบางบ่อในจำนวนนี้ติดตั้งกล้องเอาไว้หลายตัว เพื่อจับภาพเคลื่อนไหวของปลาขณะว่ายน้ำ และดำเนินการคำนวนน้ำหนักปลาโดยอัตโนมัติ ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับเวลา และปริมาณในการให้อาหารปลาได้อย่างเหมาะสม

“อาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากสุดของการทำฟาร์มเลี้ยงปลา ซึ่งการได้รู้ช่วงเวลา และปริมาณการให้อาหารที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก” มามิโกะ ฮายาซากะ ผู้จัดการแผนกแพลตฟอร์มดิจิทัล ของเอ็นอีซี กล่าว

ขณะข้อมูลจากสำนักงานประมงญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า ค่าอาหารคิดเป็นสัดส่วนราว 60-70% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมของเกษตรกร

ja1

การลดปริมาณอาหารที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น จากจำนวนประชากรโลก และความนิยมในอาหารทะเลที่เพิ่มขึ้น โดยรายงานของธนาคารโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์ว่า การผลิตสัตว์น้ำ จะพุ่งขึ้นถึง 93 ล้านตัน ภายในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนราว 62% ของความต้องการโดยรวม

หลังจากที่เริ่มต้นการทดลองเทคโนโลยีของตัวเองกับปลาหางเหลืองไปแล้ว เอ็นอีซีก็ได้ขยายการทดลองนี้เข้าไปใช้กับปลาทูน่าด้วย ซึ่งฮายาซากะ บอกว่า บริษัทของเธอกำลังพิจารณาถึงการไปทดลองกับสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย อาทิ ปลาแซลมอน และยังมีแผนที่จะขายเทคโนโลยีนี้ให้กับผู้ผลิตในต่างประเทศ อย่าง นอร์เวย์ และชิลีด้วย

“เราใช้บริการคลาวด์สำหรับการถ่ายโอนข้อมูล ดังนั้นเราจึงสามารถทำธุรกิจได้ทุกที่” ฮายาซากะ กล่าาว

เช่นเดียวกับ “เคดีดีไอ” ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของญี่ปุ่น ที่ร่วมมือกับสหกรณ์ประมงในเมืองโอบามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ทดลองเทคโนโลยีกับฟาร์มปลาแมคเคอเรล

ปลาแมคเคอเรลได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น โดยปกติมักนำไปใช้ทำซูชิ แต่การทำประมงที่มากเกินไป สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อจำนวนปลาชนิดนี้ในธรรมชาติ โดยเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ชาวประมงจากท่าเรือทาการาซุ ในโอบามะ สามารถจับปลาชนิดนี้ได้ปีละ 3,580 ตัน แต่ในปี 2558 ทั่วทั้งเมืองจับปลาชนิดนี้ได้เพียง 1 ตันเท่านั้น

“แมคเคอเรลเป็นปลาที่ไม่เหมาะกับการเลี้ยงแบบฟาร์มนัก เพราะเป็นปลาที่มีหนังละเอียดอ่อน และเสียหายได้ง่าย และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องสร้างฟาร์มเลี้ยงปลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” โทมานาริ อิชิกูโร ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจ “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” (ไอโอที) กล่าว

เคดีดีไอได้พัฒนาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เข้ากับข้อมูลกาารตรวจวัดสภาพแวดล้ัอม อาทิ อุณหภูมิน้ำ ระดับอ็อกซิเจน และความเข้มข้นของน้ำเกลือ เพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ จากระยะไกลได้

แมคเคอเรลเป็นปลาที่เคลื่อนไหว และหิวอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำมีอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส แต่ปลาจะกินอาหารน้อยลงมากในช่วงฤดูหนาว ที่อุณหภูมิของน้ำต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส ซึ่งเซ็นเซอร์ของเคดีดีไอ สามารถช่วยให้เกษตรกรวางแผนการให้อาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถใช้แทบเล็ต กำหนดเวลา และปริมาณอาหารที่จะให้

“ที่ผ่านมา การทำฟาร์มเลี้ยงปลาต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เลี้ยง และแรงบันดาลใจ แต่เราพยายามทึ่จะทำให้ที่พึ่งพาเหล่านี้ ออกมาในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ja2

สำหรับเคดีดีไอแล้ว บริษัทยังทำรายได้จากเทคโนโลยีประมงอัจฉริยะนี้ ไม่ถึง 1,000 ล้านเยน แต่ฮิโรโนระ อาเบะ หัวหน้าแผนกไอโอทีของบริษัท ระบุว่า ธุรกิจนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตใหญ่กว่าในปัจจุบัน 10 หรือแม้กระทั่ง 100 เท่า ซึ่งบริษัทประมงในตลาดอื่นๆ อาทิ ไต้หวัน ได้แสดงความสนใจในเทคโนโลยีของเคดีดีไอด้วย

ทางด้านชาร์ป ได้จับมือกับ เอ็นทีที โดโคโม และมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดสอบเทคโนโลยีใหม่สำหรับการทำฟาร์มหอยนางรม ซึ่งมีกำหนดทดลองที่จังหวัดฮิโรชิมา แหล่งผลิตหอยนางรมหลักของญี่ปุ่น ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2564

ในการทดลองนี้ ชาร์ปติดเซ็นเซอร์ไว้กับทุ่น และแพ เพื่อวัดอุณหภูมิน้ำ และความเข้มข้นของเกลือในน้ำ ทั้งยังมีการใช้โดรนบินค้นหาตัวอ่อนหอยนางรม และสังเกตการณ์คลื่น จากนั้นจึงนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ดีสุด และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำตัวอ่อนหอยนางรมไปเกาะกับเปลือกหอย

ชาร์ป ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะทำสาธารณูปโภครุ่นต่อไป อย่าง 5จี เข้ามาพัฒนาบริการใหม่ของบริษัทด้วย

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo