Digital Economy

‘3ค่ายใหญ่’รับเอกสาร 5 ซอง ประมูลคลื่น1800

สำนักงาน กสทช. เปิดให้รับเอกสารการประมูลคลื่นฯ 1800 เมกะเฮิร์ตซ วันแรก 3 ค่ายใหญ่รับไป 5 ซอง  “ทรูมูฟเอช” เผยรับซองศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่าวันนี้ (15 พฤษภาคม  2561) สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นวันแรก และจะเปิดให้รับเอกสารฯ ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2561

กสทช.
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

โดยวันนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักของประเทศไทย ได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ฯ โดยกลุ่มบริษัท AIS รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)

กลุ่มบริษัท DTAC รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (DBB)

กสทช. คลื่น 1800

ส่วนกลุ่มบริษัท TRUE รับเอกสารไป 1 ชุด ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)

สำนักงานฯ เห็นว่า คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ยังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นความต้องการของตลาด เพื่อที่จะรองรับการให้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการอย่างเพียงพอ

กสทช. คลื่น 1800

ประมูล 4 ส.ค.ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้าน

นายฐากร กล่าวว่าขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงาน กสทช. กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิถุนายน  2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16-28 มิถุนายน 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2561

กสทช. ประมูลคลื่น 1800

ช่วงระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 สิงหาคม 2561

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2561

สำหรับ คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ โดยกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต โดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน โดยใช้สูตร N-1 ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท

กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ครั้งนี้ด้วย

 

กสทช. คลื่น 1800

“ทรูมูฟเอช”ศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจ

วันนี้ “ทรูมูฟ เอช” ส่งผู้แทนเข้ารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz  พร้อมชี้แจงว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ควรจะต้องเข้ามารับทราบเงื่อนไขการประมูล เพื่อที่จะไม่เสียโอกาสในการนำกลับไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้ได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกมาทำการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน

อย่างไรก็ตามปริมาณคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นคลื่นความถี่ที่หลากหลายและมีแบนด์วิธที่มากถึง 55 MHz นั้น มากพอต่อการรองรับการใช้งานของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 27 ล้านราย และเมื่อประเมินเปรียบเทียบอัตราการใช้งานดาต้าของลูกค้ากับแบนด์วิธที่มี ก็ยังเพียงพอที่จะรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไปในอนาคต ถึงแม้จะมีจำนวนลูกค้าเพิ่มอีกเท่าตัวก็ตาม

มองราคาเริ่มต้น “เหมาะสม”

สำหรับประเด็นเรื่องกติกาและราคาตั้งต้นคลื่น 1800 MHz ที่กสทช.ได้กำหนดจากราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งที่ผ่านมา นับเป็นราคาเริ่มต้นที่สมเหตุสมผลและทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลของปริมาณคลื่นที่ปัจจุบันทรูมูฟ เอช มีอยู่มากพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทีมผู้บริหารจึงเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคลื่นความถี่เพิ่มเติมในขณะนี้

แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมประมูลจะขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาและมติของคณะกรรมการบริษัทที่จะมีขึ้นต่อไป

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight