Startup

สตาร์ทอัพ‘คิดนอกกรอบ’ปั้นธุรกิจให้ปัง!

การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ (New Business Model)  มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

หนึ่งในธุรกิจสำคัญ คือการพัฒนา สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านธุรกิจบริการ ที่นำ “ปัญหาและจุดอ่อน” ของการดำเนินธุรกิจแบบเดิมมาคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แก้ปัญหาและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ทั้ง “ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และลูกค้า”

“สตาร์ทอัพ”ผู้ช่วยเอสเอ็มอี 

นิธิ สัจจทิพวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ MyCloudFulfillment ธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการเก็บสินค้า แพ็คสินค้า และส่งสินค้าในกลุ่มเอสเอ็มอี เล่าว่าเริ่มให้บริการมาในปี 2558  โดยเริ่มต้นไอเดียธุรกิจ จากความต้องการช่วยแก้ปัญหาการขายของออนไลน์ให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  ในเรื่องคลังสินค้า การแพ็คและจัดส่งสินค้า ที่ถือเป็นระบบหลังบ้านที่ยุ่งยาก สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

สตาร์ทอัพ
นิธิ สัจจทิพวรรณ

มองว่าปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอี หลักๆ คือ 1.การขยายตลาดและลูกค้า และ 2.การจัดการธุรกิจ  ดังนั้นหากต้องทำงานทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ทำให้การโฟกัสธุรกิจไม่ชัดเจน ทั้งการทำการตลาดเพื่อสร้างลูกค้าและยอดขาย ขณะเดียวกันต้องมาบริหารจัดการหลังบ้าน

“เมื่อเอสเอ็มอี มีปัญหาเรื่องการจัดการ สตาร์ทอัพ ในด้านต่างๆ จึงเข้ามาตอบโจทย์การทำงานหลังบ้านได้ดี ถือเป็นการเอาท์ซอร์ส เซอร์วิส ที่เข้ามาปลั๊กอินกับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอี โฟกัสในสิ่งที่เก่งและถนัด เป็นการแก้ปัญหาเพื่อสร้างโอกาสธุรกิจให้เติบโต”

“คิดนอกกรอบ”สร้างเซอร์วิสแก้ปัญหาผู้บริโภค

ในยุคนี้ นิธิ มองว่าธุรกิจ“สตาร์ทอัพ” ที่น่าลงทุน  จะต้องเป็นธุรกิจที่เข้าถึงตลาดวงกว้างและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตของผู้บริโภค  การคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องคิดออกจากกรอบหรือระเบียบเดิมๆ   เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของ MyCloudFulfillment ที่มาจากการขายสินค้าออนไลน์ และรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “ยาก” เพราะต้องทำงานทุกอย่างเองทั้งหมด  ตั้งแต่การทำเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ในการสื่อสาร  การจัดส่งสินค้า

“แค่ขายสินค้าออนไลน์ ก็ถือว่ายากแล้ว แต่การต้องบริหารจัดการทั้งกระบวนการถือเป็นเรื่องที่ยากกว่า ซึ่งถือเป็นปัญหา (pain point) ที่ใหญ่พอที่สามารถพัฒนาธุรกิจขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับผู้ค้าออนไลน์ได้ จึงเริ่มต้นธุรกิจMyCloudFulfillment”

สตาร์ทอัพ
รูปเฟซบุ๊กMyCloudFulfillment

การพัฒนาธุรกิจต้องเข้าใจ “ปัญหา” ของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 ปีก่อน และปีนี้ เชื่อว่าไม่เหมือนกัน  และในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ไม่เหมือนกัน

นอกจากนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารการตลาด ผ่าน “การเล่าเรื่อง” ถือเป็นสิ่งสำคัญ  โดย MyCloudFulfillment  มีการทำโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยการทำวิดีโอเล่าเรื่องให้เห็นปัญหาของร้านค้าออนไลน์ พบว่ามีคนดูกว่า 4.6 ล้านวิว เรียกว่าเป็นการคิดนอกกรอบอีกเช่นกัน เพราะไม่เคยมีใครทำวิดีโออธิบายบริการคลังสินค้าบนเฟซบุ๊กมาก่อน พอเราทำจึงมีคนสนใจดูจำนวนมาก

“การสร้างสตอรี่ บอกเล่าเรื่องราว เป็นสิ่งที่ความจำเป็น เพื่อให้คนเข้าใจปัญหาก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ รูปแบบการเล่า จะต้องมองในมุมปัญหาของลูกค้าเป็นหลัก”

นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ MyCloudFulfillment  เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปีแรกเติบโต 10 เท่า  ปี 2560 เติบโตอย่างก้าวกระโดดอีก 5 เท่า และไตรมาสแรกปีนี้เติบโต 3 เท่า  เป็นการเติบโตต่อเนื่องที่ไม่ได้ช้าลง

ปัจจัยการเติบโตมาจากลูกค้าที่ขยายตลาดได้มากขึ้น จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัว ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตตามไปด้วยเพราะเป็นบริการที่เชื่อมต่อกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

มอง“คู่ค้า”พันธมิตรพัฒนาธุรกิจ

การจองคิวเพื่อใช้บริการต่างๆ ถือเป็นอีก “ปัญหา” ของผู้บริโภคในยุคนี้ จึงเป็นที่มาของเซอร์วิสจองคิว QueQ ที่ช่วยจัดการระบบคิวให้กับธุรกิจ และบริการจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่นในฝั่งผู้บริโภค

รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ QueQ  เล่าว่า QueQ  เป็นโซลูชั่นแก้ปัญหาที่คนต้องเสียเวลาจองคิว จากการใช้บริการต่างๆ  ด้วยโซลูชั่นจองคิวรูปแบบใหม่ (queuing) จากเดิมรับบัตรกระดาษแล้วต้องนั่งรอ แทนที่จะใช้เวลาที่ต้องมารอคิวไปทำอย่างอื่น เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการจองคิวจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ ผ่านแอพมือถือ

สตาร์ทอัพ
รังสรรค์ พรมประสิทธิ์

ช่วงแรกเริ่มต้นให้บริการในกลุ่ม “เชนร้านอาหาร” ปัจจุบัน  QueQ ให้บริการในศูนย์การค้าต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ  จากนั้นได้ขยายสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศบางแล้ว พร้อมทั้งขยายบริการจากเชนร้านอาหาร ไปยังกลุ่มธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร และโรงพยาบาล เพื่อให้คนใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในการพัฒนาธุรกิจ มองว่าทุกองค์ประกอบที่ทำให้เกิดเซอร์วิสที่ดี คือ “พาร์ทเนอร์”ที่อยู่ทั้งกระบวนการการพัฒนาธุรกิจ  จากประสบการณ์เริ่มต้น QueQ ที่ร้าน Shabushi เซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นที่แรก ขณะนั้นไม่มีโนวฮาวการจองคิวร้านอาหารที่ไหนมาก่อน  เพราะเริ่มต้นจากมีไอเดียในการพัฒนาโปรดักท์นี้ ดังนั้นการให้โอกาสของพาร์ทเนอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สตาร์ทอัพ
รูปเฟซบุ๊ก QueQ

การเริ่มต้นทำงานวันแรก เราไม่ได้มาขายสินค้า แต่ได้เสนอบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์

หลังจากให้บริการในเชนร้านอาหาร ทำให้ได้โนวฮาวมาพัฒนาโปรดักท์ต่อเนื่อง ปัจจุบันเริ่มให้เซอร์วิสในโรงพยาบาล ทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ไม่ใช่เพียงพนักงานในร้านที่ต้องใช้ระบบ แต่มีคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องมาใช้ระบบร่วมกัน

“หากเริ่มต้นธุรกิจด้วยการคิดขายสินค้าตั้งแต่ต้น อาจเป็น mindset ที่ผิด แต่ควรมองว่าการเป็นพาร์ทเนอร์ที่ทำธุรกิจและบริการร่วมกัน  เพื่อทำให้เกิดมูลค่าธุรกิจ  เชื่อว่าจะให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และนำมาต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป”

Avatar photo