Wellness

‘ฮีทสโตรก’ ภัยใกล้ตัวหน้าร้อน ถึงตายได้

กระทรวงสาธารณสุข  แนะนำประชาชนหลีกเลี่ยง ทำกิจกรรมกลางแดดจัด เป็นเวลานาน ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อน ป้องกันโรคลมร้อนในช่วงฤดูร้อน

ในทุกปี จะมีผู้ป่วยโรคเหตุปัจจัยจากความร้อนเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ยปีละประมาณ 3,500 ราย ข้อมูลเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2558-2560 พบว่ามีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่มีอากาศร้อนกว่าทุกปี จำนวน 60 ราย

สำหรับหน้าร้อนปี 2561 พบผู้เสียชีวิต 18 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 1 ราย ส่วนใหญ่ 30 %  มีอาชีพรับจ้าง 15 % เป็นเกษตรกร โดย 27.8 % มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อีก 27.7 % มีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุราเป็นประจำ  และเสียชีวิตสูงสุดในเดือนเมษายน

1.J
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุก ๆ ปี ตามแนวโน้มของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ง่าย กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเป็นได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด

ส่วนอาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิต ได้แก่ เพลียแดด โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ทันที

ฮีทสโตรก

จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัว ดังนี้

1.ใส่ใจถึงสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน  

2.ไม่ออกกำลังกาย หรือทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน

3.ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8-10 แก้ว

4.ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ จนรู้สึกกระหาย หรือริมฝีปากแห้ง

5.สวมเสื้อผ้าเหมาะสม กับสภาพอากาศ และระบายเหงื่อได้ดี

6.สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด SPF 15 ขึ้นไป

7.ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่อากาศร้อน

8.ดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยเรื้อรังอย่างใกล้ชิด

หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  • รีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ให้ดื่มน้ำเย็น
  • ให้นอนราบ
  • ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
  • ใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด

ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669

 

Avatar photo