Politics

ทบทวน!! ‘เรืองไกร’ ขอ ‘กกต.’ พิจารณาคุณสมบัตินายกฯ ใหม่

“เรืองไกร” ยื่น “กกต.” ทบทวนพิจารณาคุณสมบัติ “ประยุทธ์” ย้ำมติ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ไม่ใช่จข้อเด็ดขาด

 

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ 4

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ได้เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ทบทวนการตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พร้อมทั้งขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (15) หรือไม่

“มติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ใช่ข้อยุติที่เป็นเด็ดขาด หรือมีผลผูกพันกับ กกต. และความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีข้อสังเกตตามมา เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่น่าจะมีอำนาจนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ตีความตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้เอง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า การวินิจฉัยคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนี้ เป็นการวินิจฉัยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109 (11) เท่านั้น”นายเรืองไกร กล่าว

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ 2

ทั้งนี้ หากบุคคลใดมีหลายสถานะหรือหลายตำแหน่ง การพิจารณาสถานะและตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 191 ย่อมเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยมีคำวินิจฉัย ที่ 2/2562 ไว้แล้วว่า อำนาจรัฐฐาธิปัตย์ ควรใช้เพียงชั่วระยะเวลาที่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นองค์รัฐฐาธิปัตย์ต่อไป

ขณะที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 พิจารณาคำโต้แย้งของนายรังสิมันต์ โรม เกี่ยวกับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ว่าเป็นคณะบุคคล ที่ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ใช้อํานาจรัฐ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถควบคุมตรวจสอบหรือจำกัดการใช้อำนาจได้ ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน คสช. หรือ หัวหน้า คสช. ย่อมเป็นคณะบุคคล แบบเดียวกัน จึงสรุปได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight