Wellness

ขายไอเดียแก้ฝุ่น !! สจล.พัฒนา ‘ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ’ เตือนภัยฝุ่นละออง PM 2.5 

สจล.ขายไอเดีย “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ เตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก” ในเขตเมือง เฝ้าระวังจุดเสี่ยง พร้อมต่อยอดเป็น Smart Bus Stop เพิ่มฟังก์ชั่น แจ้งข้อมูลฝุ่นแบบเรียลไทม์ บอกรถเมล์เข้าป้ายและเวลาแน่นอน แถมเรียกรถพยาบาลได้ด้วย ผลักดัน กทม.ติดตั้ง ย้ำระบบไม่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายถูก 25,000 บาท ร่วมแก้ปัญหาระยะยาว วางระบบตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ พัฒนาคาดการณ์ฝุ่นละออง นำร่องลาดกระบัง 

ภาพป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนฝุ่น 1

รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากการออกไปวิจัยฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ พบว่าปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพยังอยู่ โดยเฉพาะจุดที่ตั้งป้ายรถเมล์ตั้งอยู่ใต้แนวรถไฟฟ้าที่ทำให้ลมไม่พัดผ่าน อาทิ สีลม พหลโยธิน หลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนที่นั่งรถเมล์ และคนที่ใช้ป้ายรถเมล์เป็นที่ทำมาหากิน ทั้งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า่ต่างๆ

ดังนั้นสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ จึงได้ทำการออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตพื้นที่เมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถเฝ้าระวังจุดเสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจราจรแออัด

ภาพป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนฝุ่น 4 1

สำหรับการก่อสร้างป้ายรถเมล์อัจฉริยะนี้จะเป็นมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง และติดพัดลมระบายอากาศคู่กัน หากเซ็นเซอร์ตรวจจับแจ้งว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  และ PM 10 ในบริเวณนั้นมีสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ระบบพัดลมจะทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อตีฝุ่นละอองขึ้นไปบนอากาศ

พร้อมกันนี้ยังติดตั้งป้ายแจ้งเตือนบอกคุณภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่นั้น และกรุงเทพ และสามารถพัฒนา และปรับปรุงต่อเพื่อให้เป็นสมาร์ท บัส สตอป (Smart Bus Stop) เช่น การมีฟังก์ชั่นเรียกรถพยาบาล หรือตำรวจ บอกรถเมล์ที่จะมาล่วงหน้า เป็นต้น

สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะนั้น ไม่สูงมากนัก เพราะปรับปรุงจากป้ายรถเมล์ที่มีอยู่เดิม และทำให้ใช้งานง่ายไม่ซ้ำซ้อน อยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อป้าย บวกค่าเซ็นเซอร์ 3,000 บาท และพัดลม 2,000 บาท หากทำติดตั้ง 1,000 ป้ายรถเมล์ที่เป็นจุดเสี่ยง จาก 5,000 ป้ายในกรุงเทพ จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนค่าไฟฟ้าหากทำงาน 2-4 ชม.ต่อวัน จะมีค่าใช้จ้ายเกิดขึ้น 270-541 บาทต่อเดือน โดยสจล.จะนำร่องป้ายรถเมล์ภายในมหาวิทยาลัยก่อน และจะสื่อสารออกไปในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการพูดคุยระหว่างหน่วยานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม.เพื่อนำโมเดลไปลงทุนต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ SCiRA
รศ.ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา

“ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะช่วยตอบโจทย์หลายเรื่อง ทำงานง่ายไม่ซับซ้อน แก้ปัญหาเป็นรูปธรรมดีกว่าการไปการฉีดน้ำพ่นฝุ่น ขณะเดียวกันก็ยังให้ข้อมูลฝุ่นกับประชาชนแบบเรียลไทม์ที่้ป้ายรถเมล์ได้ด้วย ซึ่งประชาชนต้องการข้อมูลมากที่สุดในเวลานี้ เพื่อหาทางลดความเสี่ยงของตนเอง  และหน่วยงานก็นำข้อมูลไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถเติมฟังก์ชั่นที่หลากหลายเข้าไป เช่น การบอกสายรถเมล์ที่จะมาล่วงหน้า และเวลาที่จะมาถึงป้ายนั้นเหมือนในต่างประเทศ ที่ประชาชนต้องการมากในเวลานี้”

นอกจากนี้เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ยังได้วางโรดแมปการคาดการณ์วิกฤติฝุ่นในรอบปีพ.ศ. 2562 – 2563 โดยจัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศและวางแผนการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ภาพป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนฝุ่น 5

โดยทีมอาสาสมัครสม็อคแมน (SMOG Man) เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบเรียลไทม์เฉพาะจุด รวมทั้งการพัฒนาระบบการตรวจวัดฝุ่นละอองในแต่ละที่ตั้งเป้านำร่องสถานศึกษาทั่วกรุงเทพฯ นำร่องที่เขตลาดกระบัง  จะเป็นพื้นที่แรกในการเก็บสถิติ เพื่อคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองภายในเดือน กรกฎาคม 2562

ข้อมูลการพยากรณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สำนักฯดำเนินการนั้น อนาคตจะได้รับการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ผ่าน       เฟซบุ๊ค SCiRA KMITL ด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเฉพาะจุดที่จะเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์

“การดำเนินการดังกล่าว เพราะแนวโน้มปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากการพัฒนาโครงการก่อสร้างต่างๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน ”

สำหรับการแก้ปัญหาเมือง สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ยังได้พัฒนานวัตกรรมสมาร์ท ซิตี้ อื่นๆ  เช่น การพัฒนาเอไอ (AI) ช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ บิ๊กเดต้า (Big Data) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร การสร้างแก้มลิงใต้ดินสำหรับรองรับน้ำท่วมกทม. เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิบการบดี สจล. กล่าวว่าในฐานะสถาบันการศึกษาเราต้องการตอบโจทย์ปัญหาสังคมไทย และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กยังเป็นปัญหาสำหรับประเทศ ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาไฟไหม้ฟาง จึงต้องการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

ระยะสั้นในเขตกทม. ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะช่วยตอบโจทย์ได้ และต้องการผลักดันให้โครงการก่อสร้างต่างๆใช้ตาข่ายกันพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง และการทำสงครามกับรถควันดำอย่าจริงจัง และเด็ดขาด รวมถึงการนำมาตรการภาษีฝุ่นมาใช้ ให้ผู้ประกอบการที่ทำมาตรการป้องกันฝุ่นมาได้รับประโยชน์ นำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี

ส่วนในระยะยาว นำเสนอให้กระทรวงพลังงานมองปรับมาตรฐานน้ำมันให้ไปถึง ยูโร 5 หรือ 6 อย่างในหลายประเทศ เช่น เยอรมัน เพราะหากปรับเป็นยูโร 4 มลพิษก็ยังไม่ลดลง เพราะจำนวนรถเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายรถใช้น้ำมันดีเซลพุ่งถึงกว่า 7 แสนคัน สำคัญรถยนต์ไฟฟ้าต้องนำมาใช้เป็นรูปธรรม โดยให้รัฐบาล กระทรวง มหาวิทยาลัย โรงเรียน ใช้นำร่องอย่างจริงจังก่อน เพื่อสร้างตลาด และยกระดับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต  นอกจากนี้ยังต้องการเตือนประชาชน ให้ใส่หน้ากากต่อไป โดยเฉพาะหากอยู่ใจจุดเสี่ยง เช่น สีลม สะพานควาย

สำหรับปัญหาฝุ่นละอองในต่างจังหวัด จะต้องแก้อีกบริบทหนึ่งแตกต่างจากกรุงเทพ เพราะสาเหตุใหญ่มาจากการเผาในที่โล่งในแปลงเกษตร ไม่่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ หรือลำปาง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ฝุ่นละอองในหลายจังหวัดยังคงเป็นปัญหาต่อสุขภาพ จึงขอเสนอให้รัฐทำโครงการสนับสนุนเครืองมือเกษตร โดยอาจเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้เกษตรกรเข้าถึง เป็นทางออกให้เขาลดการเผาลง ปัญหาต่างๆจะลดลงได้แน่นอน

นพ.สจล
ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร

ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สจล. ย้ำกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้เห็นในวันนี้ แต่จะส่งกระทบในระยะยาว  โดยเฉพาะกลุ่มทารก เด็ก และเยาวชน ที่มีกว่า 1.7 ล้านคนที่อาศัยในกรุงเทพ และเด็กอีกว่า 2.5 ล้านคนในเขตเมืองใหญ่ ท้้งเชียงใหม่ ขอนแก่น นคราชสีมา อุบลราชธานี แพร่ ลำปาง เป็นต้น ซึ่งมีเด็กเยาวชนจำนวนมากต้องโดยสารรถสาธารณะ และหน้ากากอนามัย N 95 ก็ไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระของเด็ก ส่งผลให้ป้องกันได้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง กับเขาเหล่านี้ เป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ของชาติในอนาคต

บรรยากาศเวทีเสวนาหาทางออกวิกฤติฝุ่นพิษไทย PM 2.5 อย่างยั่งยืน 02

 

Avatar photo