COLUMNISTS

เร่งแก้ไขปัญหา ‘ชาวเล’ ด้วย ‘โฉนดชุมชน’

Avatar photo
211

วันศุกร์ที่ผ่านมา (11 พ.ค.61) มีโอกาสได้ลงพื้นที่ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กับหัวหน้าอภิสิทธิ์ ได้พบปะกับชาวเลที่ “ชุมชนอูรักราโว้ย โต๊ะบาหลิว” สัมผัสกับวิถีชุมชนที่น่าตื่นตา ตื่นใจ ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของชาวเล

 เร่งแก้ไขปัญหา'ชาวเล' ด้วย 'โฉนดชุมชน'

แต่น่าตกใจและเสียดายที่รู้ว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังก่อให้เกิดวิกฤติชาวเล

ชาวเลยื่นจดหมายร้องทุกข์ขอให้หัวหน้าอภิสิทธิ์ช่วยเหลือ แสดงจดหมายจากรัฐ มีคำสั่งบีบคั้นให้พวกเขาไร้ที่อยู่ที่ทำกิน ทั้งๆ ที่ตั้งรกรากมาเกือบ 90 ปี จนเกิดคำถามว่า “เราจะปฏิรูปประเทศด้วยการขับไล่อย่างนั้นหรือ”

หลายสิบปีที่ผ่านมาที่ผ่านมา ชาวเลต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยมาโดยตลอด ทั้งจากการที่รัฐประกาศพื้นที่ทับที่อยู่อาศัย และมีเอกชนมาอ้างสิทธิเหนือที่ดิน

แต่ล่าสุดที่สร้างความทุกข์หนักให้กับชาวเลคือ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีเนื้อหาที่กระทบต่อการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตร ประมง รวมถึงการอยู่อาศัยของประชาชนริมน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม

จนต้องมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ โดยให้ชาวบ้านยื่นเรื่องขออนุญาตกับกรมเจ้าท่าได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะกรมเจ้าท่าไม่อนุญาตและมีคำสั่งให้รื้อถอน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นและเห็นกับตากับ ชุมชนอูรักราโว้ย โต๊ะบาหลิวในวันนี้

สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขากระบี่ ทำหนังสือถึงชาวบ้านใน ชุมชนอูรักราโว้ย โต๊ะบาหลิว ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ถึงคำสั่งไม่อนุญาต และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ โดยอ้างว่าไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ของสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่พึงอนุญาตได้ จำนวน 17 ประเภท ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง และการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่32/2560 และสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายใน 60 วัน ทั้ง ๆ ที่ชุมชนนี้อยู่ในข่าย 17 ประเภทที่ได้รับการอนุญาต คือ เป็นอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สำหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม การประกอบอาชีพในภาคการเกษตร และศาสนสถาน

ทางกรมเจ้าท่าให้เวลาชาวบ้านในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน โดยไม่เข้าใจความยากลำบากของชาวบ้านในการโต้แย้งสิทธิและสู้กับรัฐ เนื่องจากชาวเลเกือบทั้งชุมชนไม่มีการศึกษา และห่างไกลจากความรู้ทางกฎหมาย

เรื่องนี้หัวหน้าอภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้คุณนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เข้ามาช่วยในเรื่องข้อกฎหมายแล้ว

แต่สิ่งที่น่าเสียดายมากคือ ถ้ามีการสานต่อนโยบายในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีการออกมติครม. เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ปัญหาชาวเลก็คงได้รับการแก้ไข ไม่ต้องมาทนทุกข์กับความไม่มั่นคง จนกลายเป็นวิกฤตหนักขึ้นจากนโยบายรัฐที่ขาดความเข้าใจต่อวัฒนธรรม และวิถีชุมชุนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

นโยบายดังกล่าวนอกจากจะให้มีการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ด้วย การจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อเป็นเขตสังคม และวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนผ่านภาพถ่ายทางอากาศ และด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ยังรวมไปถึงการผ่อนปรนพิเศษเกี่ยวกับการประกอบอาชีพประมง และการช่วยแก้ปัญหาในเรื่องสัญชาติด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ที่เป็นผู้ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 32/2560เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ ซึ่งมีเนื้อหาชัดเจนว่า

“เพื่อไม่ให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมโดยรวม ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการอยู่อาศัยชองประชาชนริมน้ำซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม…”  ต้องใส่ใจ ตรวจสอบด้วยว่าคำสั่งที่ออกมาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้จริงหรือไม่ ในทางปฏิบัติได้ทำตรงตามเจตนาของรัฐบาลหรือเปล่า เพราะหากผู้นำให้ความสนใจ ผู้ปฏิบัติคงไม่กล้ามั่วข้อมูล ขับไล่ชาวเล ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้

และถึงเวลาที่รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “โฉนดชุมชน” เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ บนหลักการ จัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม เพื่อคุ้มครองคนตัวเล็ก ตัวน้อย ให้มีความมั่นคงทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยไม่ถูกการพัฒนาเข้าไปแทรกแซง ไม่โดนนายทุนบีบคั้น จนไม่มีแผ่นดินเหยียบยืน

ปัญหาที่ผู้นำควรขบคิดให้แตก หาคำตอบให้ได้คือ “ชาวเขาไม่ให้อยู่ “เขา” ชาวเลไม่ให้อยู่ “เล” แล้วจะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหน


Add Friend