Economics

ตลาดบูม 10 ปี !! คิกออฟรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ 10,000 เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงาน คิกออฟ เปิดประชาชน-ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมเชิญชวนผู้ผลิตและจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ผลิตป้อนระบบ หลังตลาดเปิด 10,000 เมกะวัตต์ 

วันนี้ (13 มีค. 62) กระทรวงพลังงานได้ประกาศเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 10,000 เมกะวัตต์ โดยมีผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ มากกว่า  50 ราย มาร่วมรับฟัง “นโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนา และวางแผนการลงทุน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศขยายตัว

NIK 6826

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี ฉบับปี 2015) กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 6.000 เมกะวัตต์ จนถึงเดือนธันวาคม 2561 มีการติดตั้งไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์ม (solar farm) โซลาร์ พีวี รูฟทอป (solar PV rooftop)  และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ตอนนี้ยังคงเหลืออีก 2,750 เมกะวัตต์

ต่อมาได้ปรับเป็นแผนพีดีพี 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 เมกะวัตต์ ในอีก 18 ปี ข้างหน้า โดยแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่่อนต่างๆ 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการประมูล

ในส่วนของ 10,000 เมกะวัตต์นั้น และที่เหลือ 2,750 เมกะวัตต์ นั้นได้มีการมอบหมายให้ คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อ ซึ่งจะมีการประกาศในวันที่ 20 มีนาคมนี้

“เป็นโอกาสของประชาชน และภาคเอกชน ที่จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จากเดิมผลิตใช้เอง มาขายให้ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้ด้วย ปีละ 100 เมกะวัตต์ รวม 10,000 เมกะวัตต์ใน 10 ปี โดยจะนำร่องรับซื้อล็อตแรกก่อน 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อ่ทดสอบตลาด แต่ราคารับซื้อ ต้องไม่สูงกว่าราคาขายส่ง เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อระบบ หรือ ไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ตลาดที่เปิดอย่างนี้ก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และรับบริการติดตั้ง ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรม ที่่เกี่ยวกับโซลลาร์เซลล์ของประเทศในอนาคต”

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้ส่งเสริมโซลาร์เซลล์เพื่อชุมชน เช่น โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยติดตั้งแล้วเสร็จ 1,087 แห่ง กำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1,446 แห่งในปี 2562 นอกจากนี้ยังส่งเสริมโครงการระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนห่างไกล 439 แห่ง และโครงการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ห่างไกล 239 แห่ง

NIK 6832

ดร.วีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักนโยบายไฟฟ้า  สำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  ที่เห็นชอบแผนพีดีพี ฉบับปี 2018 มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,175 เมกะวัตต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมประมาณ 12,275 เมกะวัตต์ เป็น โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และ โซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar)  อีกประมาณ 2,725 เมกะวัตต์

นายคมกฤช  ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า ในระยะแรก กกพ. จะมีโครงการทดลอง โซล่าร์ภาคประชาชน สำหรับภาคครัวเรือน ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2562 ด้วยราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบสองทางด้วย หมายถึงรับและขายไฟฟ้าเข้าระบบ

ทั้งนี้ กกพ.จะมีการจัดรับฟังความเห็นร่างระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า ตั้งแต่ 16 มีนาคม 2562 – 1 เมษายน 2562 หลังจากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะเปิดลงทะเบียน และรับข้อเสนอโครงการช่วงเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2562 และจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา รวมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในตุลาคม 2562

grview 61470 1

นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามแผน PDP2015 กฟผ. จะเริ่มโครงการนำร่อง Hydro Floating Solar Hybrid ที่เขื่อนสิริธร ขนาดกำลังการผลิต 45 MW  โดยมีแผนเปิดดำเนินงาน (COD) ภายในธันวาคม 2563 ในพื้นที่โครงการวม 760 ไร่ เป็นพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 45 ไร่สำหรับติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ไม่รวมส่วนยึดโยงต่างๆ โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการเบื้องต้น ซึ่งส่วนประกอบสำคัญได้แก่ (1) Double Glass Type PV Panel (2) HDPE Pontoon (3) ระบบยึดโยงที่รองรับระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมา โดยใช้แบบ Bottom Anchoring ที้งนี้ กฟผ. มีแผนการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างในเดือนพฤษภาคม 2562

นายวิรัช  มณีขาว ผู้อำนวยการกลุ่มออกแบบมาตรฐานและทดสอบ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีโครงการหลัก 2 โครงการได้แก่

(1) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2 kW

(2) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งรวมดำเนินการแล้ว 846 แห่ง ระบบละไม่น้อยกว่า 2.5 kW ครอบคลุม 56 จังหวัด

ส่วนนายธนธัช  จังพานิช ผู้จัดการสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพขีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (สนับสนุนโครงการไทยนิยมยั่งยืน) มีวัตถุประสงค์ (1) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนและขยายโอกาสทางการเกษตร (2) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางไกลและนวัตกรรมทางการศึกษา (3) ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท โดยมีกำลังการผลิตรวมของทั้ง 3 ระบบเป็น 7,709 kW และ 13,407 kW สำหรับผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) และปีงบประมาณ 2562 ตามลำดับ

Avatar photo