Finance

ว้าว! ดัชนีอ้างอิงต่างประเทศเพิ่มลงทุน 9 บิ๊กแคป

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2562 ปัจจัยเร่งที่น่าจะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวขึ้นได้ เป็นเรื่องการของการที่ ดัชนี FTSE ซึ่ง เป็นบริษัทอิสระที่จัดทำดัชนีในระดับสากล (Independent Global Index Provider) โดยมีสถานะเป็น Joint Venture ที่จัดตั้งขึ้นโดย The Financial Times และ London Stock Exchange ในปี 1995

ทั้งนี้ FTSE มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการจัดทำดัชนีให้ตลาดหลักทรัพย์หลายๆ แห่งทั่วโลก อาทิเช่น ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ตลาดหลักทรัพย์ แนสแด็ก ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซ่ามาเลเซีย ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ฯลฯ  ในปัจจุบัน FTSE มีการคำนวณดัชนีมากกว่า 100,000 ดัชนีสำหรับตลาดทุนทั่วโลก

ดัชนีที่ FTSE จัดทำขึ้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มของนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อจุดประสงค์ในการวิเคราะห์การลงทุน การวัดผลประกอบการ การจัดการสินทรัพย์ การป้องกันความเสี่ยง หรือแม้แต่ใช้ในการสร้างกองทุนอ้างอิงดัชนี

ดัชนีอ้างอิงตปท.เพิ่มลงทุน 9 บิ๊กแคป 01

ปัจจุบัน FTSE เป็นผู้จัดทำดัชนีที่ร่วมทำงานกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมากกว่า 20 แห่งในการสร้างดัชนีสำหรับแต่ละประเทศ (Domestic Index)  สำหรับในภูมิภาคเอเชีย FTSE เป็นผู้จัดทำดัชนีที่ได้รับการคัดเลือกให้สร้างดัชนีสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน

ล่าสุด FTSE ได้ประกาศเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นไทย และนำหุ้นกว่า 9 บริษัทเข้าไปคำนวณในแต่ละขนาด มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง

นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือนนี้ ดัชนี MSCI จะมีการปรับวิธีการคำนวณ โดยอาจจะนำ NVDR ของไทยเข้าไปคำนวณในดัชนี

เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ดัชนีทั้ง 2 ตัว เป็นดัชนีที่ใช้อ้างอิงของบรรดานักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นก็น่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่น่าจะสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 3-5 พันล้านบาท

บล.บัวหลวง ระบุว่า ที่่ผ่านมา ดัชนี FTSE ได้เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย จาก 1.83% สู่ระดับ 1.87% โดยหุ้นเข้าคำนวณ Large Cap Index ได้แก่ HMPRO, GULF, EA, MINT, MAKRO, BEM, DIF ส่วนหุ้นเข้า Mid cap index ได้แก่ MTC, GPSC มีผลวันที่ 15 มีนาคม 2562 และการที่ MSCI จะพิจารณานำกระดาน NVDR มารวมคำนวณในดัชนีฯ MSCI Thailand โดยฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ถ้ามีการรวมการคำนวณของ NVDR จริงคาด น้ำหนักหุ้นไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% จาก 2.5% จะทำให้มีเงินไหลกลับมาตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

บล.กรุงศรี ประเมินว่า เมื่อ FTSE ปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยรอบเดือนมีนาคม และจะมีผลบังคับใช้โดยใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันที่ 15 มีนาคม 2562 โดยหุ้นไทยจะถูกเพิ่มน้ำหนักใน FTSE All Word Asia-Pacific จาก 1.83% เป็น 1.87% คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้าประมาณ 5 พันล้านบาท โดยรอบนี้มีหุ้นที่เข้าคำนวณดัชนี Large Cap คือ HMPRO, GULF, EA, MINT, MAKRO, BEM, DIF และหุ้นที่เข้าดัชนี Mid Cap คือ MTC, GPSC ทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้โดยใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันที่ 15 มีนาคมนี้

บล.โนมูระพัฒนสิน คาดว่าประเด็นสำคัญของตลาดหุ้นไทยคือ การปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ใหม่ของ MSCI ซึ่งถ้าหากอนุมัติ 29 มีนาคมนี้ คาดจะส่งผลให้น้ำหนักในไทยอาจเพิ่มขึ้นจาก 2.5% สู่ 3 % ในการปรับปรุงรอบเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินจาก Passive Fund กว่า 1.11 พันล้านดอลลาร์ และมีโอกาสที่ Active Fund จะ Allocate เม็ดเงินเข้ามาก่อน หนุน Fund Inflows อย่างมีนัยสำคัญ

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ประเมินว่าในระยะสั้นต้องติดตามการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของ MSCI Index ในเดือนมีนาคม จากเดิมที่คิดคำนวณจาก Foreign Share ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ โดยคิดคำนวณจาก NVDR แทน โดยเกณฑ์นี้จะทำให้น้ำหนักในหุ้นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับความน่าสนใจจากกองทุนต่างชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนหรือ A-Shares ของ MSCI Index ก่อนหน้าที่จะทยอยเพิ่มจาก 5% เป็น 20% ว่าจะดึงดูดฟันด์โฟลว์ไปยังตลาดหุ้นได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับธีมการลงทุนใน หุ้นที่อิงนโนบายการลงทุนโครงการเมกะโปรเจค , ดิจิทัล และโรโบทิค , รถยนต์ไฟฟ้า,การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว,ขนส่งและสังคมสูงอายุ ประกอบไปด้วย หุ้น STEC, CK , SCC , AMATA , WHA , BBL , KBANK , BEM , BTS , HANA , SVI, COM7, ADVANC , DELTA ,EA , AOT , TKN , CENTEL , ERW, CPALL , VGI , BDMS และ RJH

ส่วน บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุว่า ในระยะสั้นหรือ 1 – 2 ไตรมาส มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของ MSCI Index ในเดือนมี.ค. ที่นำ NVDR มาคิดคำนวณฟรีโฟลต โดยเกณฑ์นี้จะทำให้น้ำหนักในหุ้นไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับความน่าสนใจจากกองทุนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่ฟันโฟลด์จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยราว 1.5 พันล้านดอลลาร์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight