Finance

ตะลึง! บจ.กำไรไตรมาส 4 ปี 61 วูบเกือบแสนล้าน

การรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในงวดปี 2561 และงวดไตรมาส 4 ปี 2561 จบลงแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่มีกำไรลดลง โดยเฉพาะในงวดไตรมาส 4 ปี 2561 ปรับลดลงแรง จนฉุดภาพรวมกำไรปี 2561 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

โบรกเกอร์ได้รวบรวมกำไรของบจ.งวดไตรมาส 4 ปี 2561 อยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.47 แสนล้านบาท ดังนั้นพบว่า กำไรลดลง 36.5% หรือคิดเป็นมูลค่าที่หายไป 0.80 แสนล้านบาท และหากเทียบกับงวดไตรมาส 3 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 2.52 แสนล้านบาท จะลดลง 38.8% หรือคิดเป็น 0.97 แสนล้านบาท ดังนั้นทำให้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่จะต้องปรับลดเป้าหมายกำไรของปี 2562 ลงอย่างแน่นอน

ภาพรวมกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน 02

บล.เอเซียพลัส มีความเห็นว่าผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2561  มีบริษัทจดทะเบียนรายงานงบฯ แล้วราว 533 บริษัท คิดเป็น 98% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ทั้งตลาดฯ ทำกำไรสุทธิรวม 1.62 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้วในไตรมาส 4 ปี 2560 พบว่ากำไรลดลงถึง 36.5% และเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561 เฉพาะบริษัทที่ประกาศงบแล้วเช่นกัน กำไรสุทธิลดลงถึง 38.8% หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มฯ สามารถสรุปได้ดังนี้

กลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และงวดไตรมาส 3 ปี 2561 คือ กลุ่มค้าปลีก เติบโต 3.9% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 14.2% จากงวดไตรมาส 3 ปี2561 หนุนจากการเติบโตของ BJC จากความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้นของธุรกิจดั้งเดิม ตามด้วย HMPRO และ CPALL

กลุ่มที่มีกำไรสุทธิ เติบโตจากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 แต่ลดลงจากงวดไ ตรมาส 3 ปี 2561 คือ กลุ่มธนาคาร เติบโต 0.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว 24.6% เทียบกับงวดไตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก KBANK จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานในช่วงฤดูกาลที่เร่งตัวขึ้นมาก เช่นเดียวกับ KTB

กลุ่มการเงิน เพิ่มขึ้น 7.2% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 ลดลง 4.9%จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก KTC

กลุ่มอาหาร เติบโต 13.9% จากงวดไตรมาส 4 ปี2560 ลดลง 15.4% งวดไ ตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก CPF ที่มีกำไรอ่อนตัวลง

กลุ่มสื่อ-บันเทิง Turnaround จากที่ขาดทุนในปี 2560 แต่ยังคงอ่อนตัวลง 69.6% งวดไตรมาส 3 ปี 2561 มาการพลิกกลับมาเป็นกำไรของ MTCO ขณะที่ VGI  MAJOR รวมถึง RS เติบโตดี ทั้งงวดไตรมาส 3 ปี 2561 และงวดไตรมาส 4 ปี 2560 หนุนกำไรกลุ่มเช่นกัน

กลุ่มที่มีกำไรสุทธิเติบโตจากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 แต่ลดลงจากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 คือ

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เติบโต 9.8% จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 แต่ลดลง 13.9% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 หลักๆ มาจาก SCC กดดันหลักจากธุรกิจปิโตรฯ ลดลง  ธุรกิจปูนและวัสดุก่อสร้างทรงตัว ส่วน Packaging โตขึ้น รวมทั้ง TOA

กลุ่มอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 22.7% งวดไ ตรมาส 3 ปี 2561 แต่อ่อนตัวลง 1.0% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 หลักๆ มาจาก WHA แรงส่งจากการขายทรัพย์เข้ากอง REIT

กลุ่มท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 101.7% งวดไตรมาส 3 ปี 2561 แต่อ่อนตัวลง 50.2% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 แม้ CENTEL ERW จะทำกำไรได้เพิ่มขึ้นทั้ง qoq และ yoy แต่ยังไม่สามารถหักล้างกำไรกลุ่มฯ ที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้

กลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรลดลงมากสุด 01

กลุ่มที่มีกำไรสุทธิ ลดลงทั้งงวดไตรมาส 4 ปี2560 และไตรมาส 3 ปี 2561 คือกลุ่มพลังงาน หดตัว 70.3%จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และ 68.2%ไตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก PTT กดดันจากธุรกิจหลักโรงแยกก๊าซ และบริษัทลูก PTTEP กำไรลดลง รวมถึงการอ่อนลงของ GRM และ spread ปิโตรฯ รวมถึง stock loss เช่นเดียวกับ TOP ที่พลิกกลับเป็นขาดทุน

กลุ่มปิโตรเคมี อ่อนตัว 60.3% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และ 65.0% จากงวดไตรมาส 3 ปี2561หลักๆ มาจาก IVL กดดันจากการบันทึกกลับเป็นขาดทุนจากสินค้าคงเหลือ และกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ลดลง และ PTTGC

กลุ่ม ICT อ่อนตัว 90.4% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และ 90.8% จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก DTAC พลิกเป็นขาดทุนจากการบันทึกรายจ่ายยุติข้อพิพาทที่มีส่วนใหญ่กับ CAT รวมทั้งพลิกเป็นขาดทุน TRUE เช่นกัน

กลุ่มขนส่ง อ่อนตัว 38.0% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และ 23.8% จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 หลักๆ มาจาก BEM และ BA พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ

กลุ่มโรงพยาบาล หดตัว 21.6% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 และ 39.0% จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 มาจาก BDMS มีการบันทึกรายการพิเศษทางภาษี จากการขายเงินลงทุนทั้งหมดใน RAM

อย่างไรก็ตาม โดยรวมทำให้ผลประกอบการปี 2561 ต่ำกว่าคาด คือได้ราว 9.78 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จาก ปี 2560  จึงทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้นหรือ  EPS  ปี 2561 จะต่ำกว่าคาดเดิมที่ราว 108 บาทต่อ หุ้น  และทำให้ต้องปรับลดกำไรปี 2562  ซึ่งอยู่ในระหว่างการทบทวนประมาณการ แต่เชื่อว่าปรับลดลงไม่มาก

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินว่า ภาพรวมกำไรไตรมาส 4/61 ที่อ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยถ่วงการฟื้นตัว ภาพรวมตัวเลขผลการดำเนินงานบจ. ไตรมาส 4/61 ของไทยส่วนใหญ่ต่ำกว่าคาด โดยกลุ่มที่กำไรต่ำคาดมากที่สุดเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ พลังงาน ลดลง 42.65%, นิคมฯลดลง 31.07%, ยานยนต์/อาหาร ลดลง 30.26% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์กำไรปี 62 ที่ถูกปรับลดประมาณการลงอย่างต่อเนื่อง      

บล.บัวหลวง ระบุว่า ผลประกอบการบจ.ออกมาครบแล้ว สถิติในไตรมาสนี้สู้ไตรมาสที่แล้วไม่ได้ บรัษัทที่รายงานกำไรดีกว่าคาดมีเพียง 29% (ไตรมาส 3 ปี 2561  มี 39%) และบริษัทที่รายงานกำไรแย่กว่าคาดมี 41% (ไตรมาส 3 ปี 2561 มี 31%) อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่กำไรที่ออกมาแย่กว่าคาดจะเกิดจากการปรับค่าใช้จ่ายประจำปีซึ่งกระทบกับงบไตรมาส 4 จึงทำให้ไม่ได้กระทบต่อแนวโน้มผลประกอบการมากนัก ซึ่งไตรมาสนี้บริษัทที่โดนปรับกำไรลงมีเพียง 23% (น้อยกว่าไตรมาส 3 ปี 2561 ที่มี 29%)

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight