Economics

‘บัตรคนจน’ กระตุ้นยอดขายร้านโชห่วย

นักการตลาดเผยบัตรคนจนหนุน “โชห่วย” ขยายตัว 3.5% คาดยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้เติบโตตามปกติ แต่ยังมีปัจจัยลบจากภาษีบุหรี่ และน้ำตาล

นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงานแถลงข่าว What’s Next in 2019 ว่า ในปี 2562 สินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มเติบโต 3-4% ตามปกติ หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตติดลบ เพราะสภาพเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงตลาดเครื่องดื่มที่หดตัว

ปัจจัยหลักที่ส่งผลบวกต่อสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ทำให้ยอดขายของร้านโชห่วยเติบโต 3.5% และยอดขายในต่างจังหวัดเติบโต 5.6% ในไตรมาสปีที่ 4 ปี 2561 โดยเฉพาะสินค้าประเภทของใช้ส่วนตัวและสินค้าในครัวเรือน ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ยังส่งผลดีต่อเนื่องในปี 2562 แต่ปัจจัยลบคือ การปรับเพิ่มภาษีบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงภาษีน้ำตาล ซึ่งผู้ผลิตต้องเตรียมตัว เพราะเครื่องดื่มบางชนิดอาจถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มถึง 4 เท่า

IMG 8673 1

คนดูทีวีเพิ่มขึ้น

ด้านการใช้งบประมาณกับสื่อในปี 2562 เพิ่มขึ้น 6% เป็น 118,823 ล้านบาท ขณะเดียวกันพบว่าคนไทยดูทีวีมากขึ้น จากเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 35 นาทีในปี 2553 เป็น 4 ชั่วโมง 12 นาทีในปี 2561 เพราะการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลและเนื้อหารายการที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ผู้บริโภคก็ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตและสื่อนอกบ้านก็เพิ่มขึ้น แต่การใช้เวลากับสื่อวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง

3 ปัจจัยหลักกระทบผู้บริโภคในปี 2568

ในปี 2568 ผู้บริโภคไทยจะถูกขับเคลื่อนด้วย 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ จังหวัดที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน แต่น้อยกว่า 5 ล้านคน (Large Middleweight) ประมาณ 20 จังหวัดของประเทศไทย จะกลายเป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพ

ในปี 2568 จังหวัดเหล่านี้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62% ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่อีกต่อไป อย่างไรก็ตามผู้บริโภคในพื้นที่ Large Middleweight จะไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ จะมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่า จึงต้องวางแผนการตลาดที่แยกย่อยและแตกต่างกันตามพื้นที่

ขณะเดียวกันมองว่า พื้นที่ Large Middleweight ในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จะมีความพิเศษกว่าพื้นที่อื่น เพราะรัฐบาลมีโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นเมกะโปรเจคใหม่ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคในพื้นที่นี้ไม่ได้มีแค่คนท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะมีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากด้วย

กทม ห้าง 101621

ปัจจัยที่ 2 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 29.9% แต่ในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 20% หรือ 27 ล้านคน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะต้องการสินค้าที่มีแพคเกจเปิดง่าย อาหารที่เสิร์ฟแบบครั้งเดียว รวมถึงบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน

ปัจจัยที่ 3 ครัวเรือนไทยจะร่ำรวยและมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคแบ่ง 2 กลุ่ม การมีสินค้าประเภทเดียวจึงตอบสนองความต้องการของทุกคนไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นแบรนด์ต้องแยกสินค้าให้ชัดเจนว่า สินค้าไหนต้องการเจาะกลุ่มคนทั่วไป (Mass) หรือเป็นสินค้าราคาสูง หรือพรีเมียม (Premium)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมักจะใช้จับจ่ายสินค้าพรีเมียมตามความรู้สึกมากกว่าจำนวนเงินในกระเป๋า เช่น คนไทย 14% มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่คนไทย 57% รู้สึกว่าสามารถซื้อสินค้าพรีเมียมได้ โดยคนส่วนใหญ่พร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าพรีเมียมที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองดูดีขึ้น เช่น เครื่องใช้อิเล็กทรอกนิกส์ เสื้อผ้ารองเท้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง วิตามิน และรถ

Avatar photo