Politics

สั่งกรมชลประทานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง

กฤษฎาสั่งการด่วนให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – อธิบดีกรมชลประทานจัดสรรเครื่องจักร เครื่องมือ เตรียมรับสถานการณ์และบรรเทาภัยแล้งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง

batch กฤษฏา บุญราช

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมชลประทานจัดสรรเครื่องจักร-เครื่องมือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งไปยังจุดรวบรวมให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งมอบหมายให้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเพื่อบูรณาการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง

ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งมาโดยตลอดและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ล่าสุดได้ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือสำหรับช่วยเหลือหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำ 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำ 527 เครื่อง รถขุด 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุก 511 คัน รถบรรทุกน้ำ 106 คัน รถแทรกเตอร์ 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร 7 อัน โดยจะจัดสรรไปประจำที่จุดรวบรวมเครื่องมือ-เครื่องจักรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสั่งการเจ้าหน้าที่ สำนักงานโครงการชลประทานต่างๆ ให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

batch เขื่อนภูมิพล

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ณ 7 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 27,047 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,702 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (8 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 80 ลบ.ม./วินาทีรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกรวม 312 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปริมาณค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำสำแล วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร และแม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และสามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติในส่วนของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ วางแผนจัดสรรน้ำไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ ผลการจัดสรรน้ำ ล่าสุด(7 มี.ค. 62)มีการใช้น้ำไปแล้วทั้งประเทศ 16,168 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำ(1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62)รวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 6,440 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนฯ หรือเหลือน้ำใช้ตามแผนที่วางไว้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้อีกประมาณ 1,560 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังนั้น ขณะนี้มีพื้นที่ซึ่งปลูกเกินแผนที่กำหนดไว้ 3 พื้นที่ได้แก่ ภาคเหนือเกินแผน 190,000 ไร่ ลุ่มเจ้าพระยา 550,000 ไร่ และภาคตะวันออก 40,000ไร่ รวมเกินแผนทั้งสิ้น 780,000 ไร่ แต่ขณะเดียวกันมีพื้นที่ที่ปลูกต่ำกว่าแผนรวม 730,000 ไร่

ดังนั้นจึงทำให้ทั้งประเทศเฉลี่ยแล้วเกินแผนไป 50,000ไร่ ส่วนที่เกินในเขตชลประทานนั้น กรมชลประทานจะจัดการดูแลไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ขอความร่วมมือไม่ให้มีการปลูกต่อเนื่องในพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว ซึงยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอได้ตลอดฤดูแล้ง อีกทั้งยังมีน้สำรองไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ กรณีฤดูฝนมาล่ากว่าปกติ เพียงพอใช้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

Avatar photo