World News

เวิลด์แบงก์ชี้แค่ 6 ประเทศ หญิง-ชาย สิทธิเท่าเทียม

ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “ผู้หญิง ธุรกิจ และกฎหมาย” รับวันสตรีสากล 8 มีนาคม ระบุ ทั่วโลกมีแค่ 6 ประเทศเท่านั้น ที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิการทำงานของผู้หญิง และผู้ชายอย่างเท่าเทียมกัน

WBL2019.pdf

รายงานฉบับนี้ ที่ธนาคารโลกเปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ จัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 10 ปีจาก 187 ประเทศ โดยดูที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกฎหมาย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น เสรีภาพในการย้ายถิ่น การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรก่อนและหลังคลอด ความรุนแรงภายในครอบครัว และสิทธิในการจัดการสินทรัพย์ ซึ่งมีเพียงเบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ลัตเวีย ลักเซมเบิร์ก และสวีเดนเท่านั้น ที่ธนาคารโลกจัดว่าให้สิทธิกับชายและหญิงในประเด็นดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนทั่วโลกนั้น  ผู้หญิงได้รับสิทธิคิดเป็นเพียง 75% จากทั้งหมดที่ผู้ชายได้รับ โดยคะแนนความเท่าเทียมเฉลี่ยในยุโรปและเอเชียกลางอยู่ที่ 84.7%  ส่วนตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 47.3 %

สหรัฐได้คะแนนความเท่าเทียม 83.75% ไม่ติดอยู่ใน 50 อันดับแรกของการสำรวจครั้งนี้ ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ามีกฎหมายที่กดขี่สิทธิผู้หญิง อยู่ที่อันดับท้ายสุดด้วยคะแนนเฉลี่ย 25.6 %

“ไม่ว่าจะเป็นคนวัย 25 ปีที่กำลังจะได้งานครั้งแรก แม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วย หรือผู้หญิงที่กำลังจะเกษียณจากงาน ดัชนีนี้วิเคราะห์ดูว่าการตัดสินใจในเชิงเศรษฐกิจของผู้หญิงได้รับผลกระทบจากกฎหมายอย่างไร” คริสตาลีนา กีออร์กีวา รักษาการประธานธนาคารโลก ระบุ

เธอบอกว่า มีกฎหมายและกฎเกณฑ์หลายประการที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงเข้าทำงาน หรือเริ่มธุรกิจตัวเอง เป็นการเลือกปฏิบัติที่จะส่งผลยาวนานต่อการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเข้าไปทำงานของผู้หญิง

woman laptop

รายงานฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับมาตรการในเชิงบวกที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้ด้วย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ 131 ประเทศได้บังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ 274 ประการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ  รวมถึง การที่ 35 ประเทศเริ่มใช้กฎหมายคุ้มครองการคุกคามทางเพศผู้หญิงที่ทำงาน 33 ประเทศเริ่มให้วันลากับพ่อเพื่อเลี้ยงดูลูกเพิ่งคลอดได้ และมี 47 ประเทศที่ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่แถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศที่ยากจนที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ริเริ่มการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด

กีออร์กีวา ยอมรับว่า การทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศต้องทำมากกว่าแค่การแก้กฎหมาย แต่ต้องมีการนำกฎหมายไปบังคับใช้อย่างจริงจัง และต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมือง ความเป็นผู้นำของผู้หญิง ผู้ชายจากหลายกลุ่มสังคม และการเปลี่ยนแปลงด้านบรรทัดฐานและทัศนคติในสังคมที่ฝังลึกอยู่

ที่มา: BBC

Avatar photo