Economics

บินว่อน! กบร.ไฟเขียวอินโดฯ – มาเลย์บินเข้า 6 สนามบินไม่จำกัด

“กบร.” ไฟเขียวอินโดนีเซีย – มาเลเซียบินเข้า 6 สนามบินภาคใต้ไม่จำกัด หนุนแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน วานนี้ (7 มี.ค.) ว่า ที่ประชุม กบร. ได้พิจารณามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากพบว่านักท่องเที่ยวเมืองรองยังมีจำนวนไม่มากนัก

ในปี 2561 นักท่องเที่ยวเมืองรองมีจำนวน 15 ล้านคนและมีการเดินทาง 1.26 แสนเที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 

จุฬา สุขมานพ2
ภาพจาก CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand

ดังนั้นในช่วงปลายปี 2561  กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำการเปิดเสรีน่านฟ้าให้กลุ่มประเทศที่อยู่ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สามารถบินเข้ามายัง 6 สนามบินเมืองรองทางภาคใต้ของไทยแบบไม่จำกัดเที่ยวบินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่  สนามบินหาดใหญ่,นครศรีธรรมราช, ตรัง, ปัตตานี, นราธิวาสและ สุราษฎร์ธานี

โดยปัจจุบันมีเพียงสนามบินหาดใหญ่ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพียงแห่งเดียวที่มีสายการบินต่างชาติเข้ามาทำการบิน  ส่วนอีก 5 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ยังไม่มีสายการบินต่างชาติ 

โอนอำนาจให้ กบร. เห็นชอบใบอนุญาต

นายจุฬา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ  โดยขณะได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน นี้

เครื่องบิน2

สาระสำคัญที่มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. แก้ไขให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นในไทยได้ 100% จากเดิม ไม่เกิน 49%ในอุตสาหกรรมผลิตอากาศยาน ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน หรือจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานครบวงจรแบบซ่อมทั้งลำในไทย แต่นักลงทุนต่างชาติจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กพท. กำหนดเช่น  ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย

โดยขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขประกอบการลงทุน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

2.แก้ไขอำนาจในการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายใน การเดินอากาศ (AOL) โดยโอนอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรงงคมนาคมมาให้ คณะกรรมการ กบร. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติแทน รวมทั้ง กบร. จะมีอำนาจ ในการกำกับด้านราคาค่าโดยสาร  มาตรการดูแลผู้บริโภค และมาตรฐานการให้บริการของสายการบินด้วย

Avatar photo