Lifestyle

ผลวิจัยชี้ ‘ผู้หญิง’ ยังไม่เท่าเทียมชายใน ‘ธุรกิจ-การเมือง’

แกรนท์ ธอนตัน เผยผลวิจัยบทบาทผู้หญิงในวงการธุรกิจปี 2562 พบมีสัญญาณที่ดีในไทย แต่ยังห่างไกลถ้าจะให้เท่าเทียมอย่างแท้จริง

business 2884023 340

งานวิจัยล่าสุดของแกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชันแนล ชี้ว่า มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในอาเซียนที่หลายตัวชี้วัดมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยร้อยละ 94 ของบริษัททั่วอาเซียนที่ทำการสำรวจมีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 1 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 87

ในประเทศไทยก็พบสัญญาณที่น่ายินดี เพราะมีผู้หญิงรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร/กรรมการผู้จัดการถึงร้อยละ 33 สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียน (ร้อยละ 21) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 15) กว่าเท่าตัว

นอกจากนี้ผู้หญิงยังครองตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ร้อยละ 26) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ร้อยละ 17) และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (ร้อยละ 16)

Melea Cruz Partner Grant Thornton
เมเลีย ครูซ

จากผลสำรวจนี้ เมเลีย ครูซ หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย มองว่า ถึงแม้จะยังไม่เห็นสัดส่วนตัวเลขที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศเท่าที่ควร แต่ก็เห็นแนวโน้มว่าบทบาทของผู้หญิงในวงการธุรกิจของไทยนั้น แซงหน้าวงการการเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่พบผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีเลย และสัดส่วน ส.ส.หญิงในสภาฯ ก็มีแค่ร้อยละ 5 จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปว่าแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเชิงวัฒนธรรมด้านความเท่าเทียมทางเพศในช่วงที่ผ่านมาจะสะท้อนกับผลการเลือกตั้งรอบที่จะถึงนี้หรือไม่

ผลการสำรวจของแกรนท์ ธอนตัน อินเตอร์เนชันแนลในปีนี้ครอบคลุมผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ ประธานบริษัท และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอื่น ๆ เกือบ 5,000 คนทั่วโลก ซึ่งสะท้อนภาพอย่างเด่นชัดว่า ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้นำในโลกการทำงานกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ถึงแนวทางที่องค์กรภาคธุรกิจใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในกลุ่มผู้บริหารอีกด้วย

ในประเทศไทยพบว่ามีแนวทางหลักๆ อยู่ 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกเพศ (ร้อยละ 37) การส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น (ร้อยละ 28) และการทบทวนวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง (ร้อยละ 22)

ส่วนแนวทางอื่นๆ ที่ใช้รองลงมา ได้แก่ การกำหนดสัดส่วนเพศของผู้ดำรงตำแหน่ง การให้รางวัลการทำงานที่บรรลุเป้าหมาย และการใช้ระบบพี่เลี้ยงผู้ให้คำปรึกษา

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบริษัทถึงร้อยละ 13 ที่ไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในองค์กร

ผู้หญิงที่สวมบทบาทผู้นำยังเผชิญอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งอุปสรรคที่พบคล้ายๆ กัน ได้แก่ ภาระหน้าที่ดูแลครอบครัวนอกเวลางาน (ร้อยละ 31) ปัญหาการจัดสรรเวลาในการทำงาน (เกือบร้อยละ 29) และการขาดโอกาสในการสร้างเครือข่าย (ร้อยละ 24)

woman laptop

ประเด็นเกี่ยวกับสตรีที่อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในโลกปัจจุบันและตามสื่อต่างๆ ได้รับแรงกระตุ้นสำคัญมาจากกระแสการเคลื่อนไหว #MeToo องค์กรธุรกิจในหลายประเทศเริ่มหันมาใส่ใจปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน โครงการริเริ่มเพื่อสร้างความเท่าเทียมนี้ไม่เพียงช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้องค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจขององค์กรอีกด้วย

ครูซ ยังพูดถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับว่า การส่งเสริมความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งดีที่ควรทำ และยังส่งผลดีกับธุรกิจด้วย

ข้อมูลยังชี้ชัดว่าความหลากหลายทางความคิดและนวัตกรรมจะช่วยหนุนให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ภูมิหลังและประสบการณ์ที่แตกต่างกันยังทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์หรือการดำเนินการ การเพิ่มผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงในบอร์ดผู้บริหารของบริษัทไม่เพียงเพิ่มจุดแข็งด้านบุคลากรเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่หลากหลายและขยายกรอบแนวคิดให้กว้างขวางเพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า”

Avatar photo