POLITICS-GENERAL

จับตา 7 สถานการณ์หลังเลือกตั้ง โฟกัส ‘3 ก๊ก’ การเมืองไทย

เหลือ 18 วัน วันเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 24 มีนาคมจะมาถึงแล้ว  ยิ่งใกล้วัน การแข่งขันหาเสียง และการบลัฟกันทางเมืองก็ดุเดือดเลือดพล่านตามไปด้วย ต่างช่วงชิงพื้นที่สื่อ เพื่อให้ประชาชนจดจำได้ เข้าคูหา “กา” ได้ทันทีไม่ลังเล

ที่ดังมาคู่กัน คือ คำถามหลายอย่างในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตั้งแต่คำถามพื้นๆ อย่าง “กาอย่างไร กากี่เบอร์”  เวลาเข้าคูหา ไปจนถึง “หากเลือกคนนี้แล้ว นายกรัฐมนตรี จะเป็นชายชาติทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่หรือไม่ หรือ เป็นนารีขี่ม้าข่าว อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”  “แล้วหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร”

คำถามเหล่านี้ ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาตามโครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562  ซึ่งได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาเบื้องต้นในวันนี้ (6 มี.ค.) ในหัวข้อ “ การเลือกตั้งแบบ 3 in  1 กับผลทางการเมือง และการใช้สิทธิของประชาชน” โดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เลือกตั้ง24038

เลือกตั้งแบบทรีอินวัน 1 คะแนนมีค่า

ดร.ปริญญา อธิบายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือ จะมีแต่แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีใน “รอบแรก” ได้ พรรคการเมืองจะต้องแจ้งรายชื่อต่อกกต.และประกาศให้ประชาชนได้รับทราบก่อน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกเรียกว่า “ การเลือกตั้งแบบทรีอินวัน” หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งมีเพียงคะแนนเดียว จะเป็นทั้งการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกัน

และการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Members Apportionment :MMA ) ซึ่งมีวิธีการเลือก และคิดจำนวนที่นั่งส.ส.แตกต่างออกไปจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550

สรุปได้ว่า การเลือกตั้งจะมีแต่เฉพาะแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดในเขตเลือกตั้งเหมือนกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่แตกต่าง คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะคำนวณจาก        จำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ก่อน

โดยนำจำนวนคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับทั้งหมด มาหารด้วยส.ส.ทั้งหมด 500 คน จะได้ค่าเฉลี่ยจำนวนคะแนนเสียงต่อส.ส. 1 คน จากนั้นเอาค่าเฉลี่ยนั้นมาหารจำนวนคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดของแต่ละพรรค

ผลที่ได้เป็นจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีได้ และเอาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคตั้งแต่อันดับ 1 ไปเติมจนครบจำนวนที่พึงมีได้ของพรรคนั้น โดยหากพรรคใดได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีได้แล้ว พรรคนั้นก็จะไม่ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก

parinya
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

จับตา 7 สถานการณ์การเมือง

สำหรับงานศึกษาครั้งนี้ ได้คาดการณ์ผลทางการเมือง ที่จะเกิดขึ้นจาก “ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม” ไว้ 7 ประการไว้ดังนี้

  • จะไม่มีพรรคใดได้ส.ส.ถึงครึ่ง คือ 250 คน
  • จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะมีน้อยกว่าจำนวนที่จะต้องจัดสรรให้แต่ละพรรค
  • เกิดการเมืองแบบ 3 ก๊กในการจัดตั้งรัฐบาล
  • นายกรัฐมนตรีจะมาจากว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคไม่เกิน 5-6 พรรค
  • โอกาสของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ พรรคประชารัฐต้องมาที่ 1 และปัญหาเรื่อง คุณสมบัติว่าที่นายกรัฐมนตรีกับการเลือกส.ว.จะกลายเป็นจุดอ่อน

พรรคภูมิใจไทยตัวแปรใหญ่

  • โอกาสของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ กับตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย
  • โอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนนอก และปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นไปได้ยาก

ดร.ปริญญา อธิบายรายละเอียด แต่ละสถานการณ์ว่า

สถานการณ์ 1 ระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” จะทำให้ประชาชนกล้าเลือกผู้สมัครของพรรคอันดับรองๆ ซึ่งจะทำให้คะแนนกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งมีมากกว่า 6.4 ล้านคน มีแนวโน้มจะเลือกพรรคใหม่อย่างอนาคตใหม่มากกว่าพรรคเก่า ทำให้พรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงน้อยลงไปอีก

สถานการณ์ 2 พรรคที่จะได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นหลักจะได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ถึงจำนวนที่จะพึงมีได้ตามจำนวนคะแนนเสียงจากประชาชน และพรรคเล็กที่คำนวณแล้วได้ส.ส.เพียง 1 คน ซึ่งจะมีหลายพรรค และไม่ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลยก็ได้

2

สถานการณ์ 3 การเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล จะเป็นการเมืองแบบ 3 ก๊ก ประกอบด้วย

  • ก๊ก 1 พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคพลังประชารัฐ
  • ก๊ก 2 พรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคประชาธิปัตย์
  • ก๊ก 3 พรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วดึงพรรคอื่นไปร่วมด้วย

เพราะเหตุใดต้องมีก๊ก ดร.ปริญญา ย้ำว่า เพราะหากมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงครึ่ง รัฐบาลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ทำให้เสนอร่างกฎหมายไม่ผ่าน และถูกลงมติไม่ไว้วางใจได้ ดังนั้นหากจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ได้ จะต้องมีส.ส.สนับสนุนอย่างน้อย 250 เสียง

“ที่น่าจับตา คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอพลเอกประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีนั้น จะสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ถึง 250 คนโดยไม่ต้องมีพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ”

แต่ละก๊กมีโอกาสเกิดยากง่ายแตกต่างกันอย่างไร ประเมินว่า ก๊ก 1 เกิดได้ยากที่สุด รองลงมาคือ ก๊ก 3 เป็นไปได้มากที่สุด คือ ก๊ก 2 และยืนยันว่านายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง และไม่จำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคหลักที่มารวมกันเท่านั้น อาจมาจากพรรคตัวกลางที่มาเชื่อมประสานก็ได้หากพรรคนั้นได้ส.ส.ถึง 25 คนขึ้นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

สถานการณ์ที่ 4 เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคะแนนแบบแบ่งเขตมีความหมาย ทำให้มีโอกาสที่พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กจะผ่านด่าน 5% ได้มากขึ้น เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีที่จะได้รับการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องมาจากพรรคที่ได้ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% หรือ 25 คน โดยคาดว่าน่าจะมีอย่างมากที่สุดแค่ 5-6 พรรค ซึ่งการเลือกนายกรัฐมนตรีก็อาจมาจากรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคเหล่านี้

พลังประชารัฐ22621

กลุ่มลังเลตัดสินใจไม่ได้มีถึง 40 %

สถานการณ์ที่ 5 ต่อเนื่องกันก็คือ พรรคใหญ่เต็งหนึ่งอย่างพรรคพลังประชารัฐ สถานการณ์ที่ดีที่สุดของพรรคนี้ คือ “ต้องมาที่หนึ่ง” แม้โพลเลือกตั้ง และจากการคาดการณ์ว่าจะพรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้มาที่ 1 แต่ยังมี “กลุ่มผู้ที่ยังลังเล” อีกกว่า 40% ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

“กลุ่มนี้เป็นทั้งโอกาส และปัญหา เพราะการเลือกส.ว.ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 250 คนให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 จะกลายเป็นจุดอ่อน ทำให้เสียคะแนนนิยมจากคนตรงกลางๆ และอาจมีกระแสให้ส.ว. “ฟรีโหวต” ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย”

สถานการณ์ 6 มองข้ามพรรคภูมิใจไทยไม่ได้เลย เพราะนอกจากจะเป็นตัวเลือกอีกตัวแล้ว พรรคนี้อาจจะมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นตัวกลางทำให้เกิดการรวมส.ส.จนได้เสียง 376 เสียงก็เป็นได้

สถานการณ์ 7 แม้ว่าบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จะเปิดช่องให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชี”ได้ โดยเชื่อว่าสภาฯ และวุฒิสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่แจ้งต่อกกต.ก่อน หากเลือกไม่ได้ สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ คสช.จะอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเชื่อว่าถึงจุดหนึ่งจะเกิดการรวมกันในแบบใดแบบหนึ่งจนได้ เพื่อไม่ให้ได้นายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชี หรือไม่ให้คสช.อยู่ต่อ

1

เงินซื้อเสียงไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ดร.ปริญญา ยังประเมินว่ามีเรื่องที่น่าสนใจอีก 4 เรื่อง ก็คือ

1.พฤติกรรมใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยเปลี่ยนไป แม้อาจจะมีการใช้ “เงิน” แต่จะไม่ใช่การ “ซื้อเสียง” ในความหมายเดิม คือ เอาเงินไปให้ แล้ว “เลือกคนนั้น” แต่จะมีพฤติกรรม “รับเงินจากทุกคน” แต่จะ “เลือกพรรคหรือคนที่อยากเลือก”  

2.กรรมการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป โดยหากกรรมการฯคนใดเห็นพฤติกรรมทุจริตเลือกตั้งสามารถสั่งให้ระงับการเลือกตั้งชั่วคราวได้เลย

3.เชื่อว่ากกต.จะใช้เวลาประกาศผลการเลือกตั้งไม่ถึง 60 วันหลังเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่กำหนดในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้เลือกตั้งส.ส.ต้องแล้วเสร็จ “ภายใน 150 วัน”  และคาดว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2562 โดย กกต.คงไม่ประกาศผลการเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

4.การเพิ่ม “ใบส้ม” และ “ใบดำ” จากเดิมมีแต่ “ใบเหลือง” และ “ใบแดง” ทำให้เกิดความซับซ้อนและเข้าใจยาก

“และที่น่าเป็นห่วงอีกข้อคือ กกต.ทั้ง 7 คนได้รับการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากสนช.ที่มาจากคสช. หากคสช.วางตัวเป็น กลางในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคสช. มาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ดังนั้น หาก กกต.วางบทบาทให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อพรรคพลังประชารัฐ และต่อพลเอกประยุทธ์ก็อาจเกิดปัญหาได้เหมือนที่เคยเกิดในการเลือกตั้ง ปี 2548  และ 2549 ในสมัยทักษิณ ชินวัตร และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งหมด”

ทั้งนี้ ดร.ปริญญา ย้ำว่า เนื้อหาจากงานวิจัยครั้งนี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น จะต้องติดตามหลังการเลือกตั้งต่อไปด้วย จึงได้ข้อสรุปที่ชัดเจนทั้งหมด

เลือกตั้ง

7 หลักการเลือกตั้งที่กกต.โฟกัส

ขณะที่นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการกกต. ระบุว่า การมอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยตามโครงการดังกล่าว  เพื่อให้หาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค รวมถึงข้อจำกัดของการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงประเมินพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชน ทั้งวิธีคิด การแสดงออก และการกระทำ รวมถึงเหตุผลของการตัดสินใจลงคะแนนเสียง เพราะการเลือกตั้ง 24 มีนาคม แตกต่างจากการเลือกตั้ง 27 ครั้งที่ผ่านมาของประเทศ ที่มีเพียง “บัตรเดียว”

และต้องการให้งานวิจัยนี้สะท้อนถึงหลักการเลือกตั้ง 7 ประการ ดังนี้

  1. หลักความเป็นอิสระ ในการลงคะแนนของประชาชน เลือกคนไหน ได้คนนั้นหรือไม่ หลักเรื่องเวลา ในการประกาศเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของกฎหมาย
  2. หลักการทำประชามติในการเลือกนายกรัฐมนตรี
  3. ความเป็นธรรม
  4. การบังคับใช้กฎหมาย
  5. ผู้เล่นในระบบทุกภาคส่วนเข้าใจกติกามากพอหรือไม่ เพราะหลายคนก็ชอบมองหาช่องว่างมากกว่าทำตามกฎหมายุ
  6. ผู้ดู คือประชาชน มีคุณภาพหรือไม่ เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองหรือไม่
  7. สะท้อนการลงคะแนนลับหรือไม่

“สิ่งที่เราต้องการมากที่สุด คือ ทำให้กติกาการเลือกตั้งเสถียร เพราะ 27 ครั้งของการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงตลอด และสิ่งที่เราตั้งคำถามไว้ ก็คือเหตุผลจริงๆของการวางกฎกติกาเลือกตั้งคร้งนี้ ”

ป้ายหาเสียง1

แนะปรับป้ายหาเสียงใหม่

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า แสดงความเป็นห่วงในประเด็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบทั่วถึงแล้วหรือไม่ โดยเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ประชาชนเข้าคูหาเลือกต้ั้งจะจำเบอร์คนที่อยากเลือกไม่ได้ และจำพรรคไม่ได้ เพราะป้ายหาเสียงกับใบลงคะแนนหน้าตาไม่เหมือนกัน ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลืออยู่จะต้องทำให้ป้ายหาเสียงที่ประชาชนเห็นทุกวันเหมือนกับบัตรเลือกตั้งให้ได้

นอกจากนี้สิ่งที่ดร.สติธร ตั้งข้อสังเกตเหมือนงานวิจัยก็คือ ความสำคัญของ “พรรคภูมิใจไทย” จนทำให้หัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ถึงกับออกมาย้ำว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องมาจากพวกผม”

ในตอนท้าย ดร.ปริญญา ย้ำว่า สถานการณ์ที่น่าสนใจที่สุด คุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่มีตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย ซึ่งจะต้องตีความกันว่าตำแหน่งนี้เป็น “ เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่เป็น “ข้าราชการเมือง” ที่เข้ายกเว้นหรือไม่

“เข้าใจว่ากกต.คงพิจารณาแล้ว เพราะคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีปัญหา แต่ในฐานะหัวหน้าคสช. หลังเลือกตั้ง ผู้ชี้ขาด คือศาลรัฐธรรมนูญ”

 

หาทางออกผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ

สำหรับการพิจารณา “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ”วันพรุ่งนี้นั้น ดร.ปริญญา อธิบายว่า กรณีถูกยุบ ก็จะมี 75 เขตที่ซ้อนกับพรรคเพื่อไทย คะแนนก็จะเทมาที่พรรคเพื่อไทยแทน ส่วนเขตที่ไม่ทับซ้อนกัน ในกลุ่มแฟนคลับก็อาจ “โหวตโน” หากสถานการณ์ไปถึงการเลือกตั้งใหม่ในบางเขต และพรรคเพื่อไทยลงแทน คะแนนก็จะไหลไปพรรคเพื่อไทย ส่วนกลุ่มตามกระแสจะดูว่าเทให้ใครแล้วมีผลชนะเลือกตั้งที่สุด

“หากถูกยุก จำนวนสส.ไม่แตกต่างจากเดิม เพราะยังไงกลุ่มนี้ก็ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ คะแนนก็จะไหลไปที่พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่าไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายเท่านั้น ยังมีอีกหลายพรรค เช่น อนาคตใหม่ และเสรีรวมไทย ที่น่าเป็นห่วงคือผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติที่ไม่ได้เกี่ยวข้องจำนวนมากจะหาทางออกอย่างไร สมัครเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ทันแล้ว”

Avatar photo