POLITICS-GENERAL

แนะรัฐบรรจุปัญหามลพิษทั้งระบบเข้าแผนแม่บท กำจัดฝุ่น PM 2.5 ยั่งยืน

ปัญหามลภาวะทางอากาศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อสุขภาวะของคนเมือง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยได้ขยายวงกว้างไปยังหัวเมืองใหญ่ต่างๆ เช่นเชียงใหม่ และขอนแก่นด้วย

image008

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ อาร์ไอเอสซี ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอ็มคิวดีซี) ได้ตระหนักถึงคุณภาพชีวิต อีกทั้งให้ความสำคัญในการลดการสร้าง และป้องกันมลภาวะทางอากาศ จึงได้ร่วมจัดเสวนาเพื่อออกแบบการแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

การสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 เวทีด้วยกัน โดยเวทีแรกเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย (ทีจีดับเบิลยูเอ) มูลนิธินภามิตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และศูนย์อาร์ไอเอสซี ภายใต้หัวข้อ “ข้อมูลใหม่ – มลพิษอากาศ PM2.5 ประเทศไทย เดือนมกราคม 2562”

image005

ศ. ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานทีจีดับเบิลยูเอ ระบุว่า รัฐบาลควรบรรจุโครงการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศทั้งระบบของประเทศ เข้าสู่โครงการเร่งด่วนในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติทันที ส่วน ผศ.ดร. สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอให้ แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการสร้างแนวต้นไม้ลึก 10 เมตร เพื่อกันเสียงและฝุ่นละออง อีกทั้งยังสร้างความแตกต่างของอุณหภูมิ ทำให้เกิดลมเพื่อทำให้ฝุ่นละอองลงสู่พื้น

image003

ทางด้าน รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาอาร์ไอเอสซี และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการวัดคุณภาพอากาศและมลภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีผลต่อสุขภาวะสาธารณะว่า การติดตั้งสถานีตรวจจับอากาศตามจุดต่าง ๆ มีความสำคัญต่อการรับรู้คุณภาพทางอากาศ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมาก การวัดคุณภาพอากาศตามระดับความสูง จึงเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างตึกสูงและต้องมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในอาคาร อีกทั้งการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ในเมืองเพื่อเพิ่มพี้นที่สีเขียวยังเป็นการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับ รศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เสนอโครงการด้านวิศวกรรมในการวัดคุณภาพและฝุ่นละอองทางอากาศ และโครงการการออกแบบผังเมืองที่สร้างการระบายอากาศที่ดี รวมถึงการสร้างเซนเซอร์ วัดคุณภาพอากาศเพื่อกระจายการตรวจวัดภายในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย

image012

ส่วนอีกเวทีนั้น เป็นการพูดถึงเรื่องการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ PM2.5 ซึ่ง รศ.ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ ภาควิชาการวางแผนและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรมีองค์กร หรือสถาบันที่เป็นเจ้าภาพในการวัดค่าฝุ่นละอองและดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นทางการและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการวัดค่าฝุ่นละอองทางแอพพลิเคชั่นนั้นยังให้ผลที่ไม่เสถียร

ขณะที่ ดร. อัมรินทร์ ตรัณภพ ที่ปรึกษาบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอการวัดค่าฝุ่นละอองด้วยวิธีการ Dynamic Light Scattering (DLS) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้วัดขนาดของสารตัวอย่างในระดับนาโนเมตรตั้งแต่ 0.005 – 5 ไมโครเมตร สำหรับอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมโครเมตรจะเกิดการแพร่กระจายอย่างไร้ทิศทางไปทั่วตัวกลาง

“อีกแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองคือการกำจัดขยะโดยการนำมาเทบนพื้นที่ หรือ Landfill ซึ่งเป็นการฝังขยะแบบไม่กลบหน้าดิน จึงทำให้ฝุ่นละอองถูกพัดไปตามลม ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องฝุ่น ทั้งนี้รัฐบาลจึงความมีการให้ความรู้ด้านการจัดขยะอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว”

Avatar photo