Telecommunications

โฆษณาออนไลน์เตรียมตัว กสทช. เริ่มมอนิเตอร์เว็บสัปดาห์หน้า

มอนิเตอร์โฆษณาออนไลน์

กสทช. เผยผลการประชุมร่วมกันกับ อย. ในการหาแนวทางระงับเนื้อหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย อย. ผ่านทางเว็บไซต์ โดยจะดำเนินการในทิศทางเดียวกับการดำเนินการตรวจสอบกับทีวีดิจิทัล และวิทยุ ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่จาก อย. มานั่งทำงานที่ กสทช. จำนวน 6 คน พร้อมเริ่มตรวจสอบวันที่ 15 พฤษภาคมนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. และ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา อย. กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบว่า หากเจ้าหน้าที่จาก อย. พบผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจะแจ้งเป็น URL และส่งให้ กสทช. แจ้งต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาจาก URL นั้น ๆ ต่อไป

นายฐากรชี้ว่า กระบวนการใหม่นี้ถือว่ารวดเร็วกว่าในอดีต จากเดิมที่กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการและสามารถยุติการนำเสนอคอนเทนต์ดังกล่าวอาจใช้เวลาประมาณ 45 – 60 วัน เหลือเพียง 1 – 2 วันเท่านั้น

มอนิเตอร์โฆษณาออนไลน์

สำหรับการตรวจสอบเนื้อหาบนสื่อทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และวิทยุนั้น นายฐากรระบุว่า นับตั้งแต่กสทช. และ อย. จัดทีมตรวจสอบร่วมกันระหว่างวันที่ 4 – 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น 21 โปรดักส์ แบ่งออกเป็นทีวีดิจิทัล 5 ช่อง 6 โปรดักส์ และทีวีดาวเทียม 14 ช่อง 16 โปรดักส์

ส่วนรูปแบบการมอนิเตอร์บนสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น จะเป็นการเปิดเว็บต่างๆ และการค้นหาผ่านคีย์เวิร์ด เช่น คำว่า ยาลดความอ้วน ยาทำแท้ง ฯลฯ เป็นต้น และสถานีที่ได้รับคำสั่งจาก กสทช. แล้วยังออกอากาศซ้ำ หรือไม่มีการดำเนินการถอดโฆษณาดังกล่าว ก็จะมีโทษปรับตามมา นั่นคือ ไม่เกิน 5 ล้านบาท และโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มอนิเตอร์โฆษณาออนไลน์

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล  ที่ปรึกษา อย. กล่าวถึงความท้าทายของการไล่จับโฆษณาที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ก็คือ การขาดงบประมาณและกำลังคนของ อย. ในการเข้าตรวจสอบ พร้อมกับชี้ว่า อย. ได้รับงบประมาณในแต่ละปีเพียง 800 ล้านบาทเท่านั้น

ที่ผ่านมา การสุ่มตรวจสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการนำไปตรวจสอบสารพิษตกค้าง ฯลฯ นั้นเป็น อย. ที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว (ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ฯลฯ นั้นตกประมาณครั้งละ 7,000 – 9,000 บาท)

แม้จะมีคำแนะนำให้ อย. เก็บค่าใช้จ่ายนี้จากผู้ประกอบการ แต่หลายภาคส่วนก็วิพากษ์วิจารณ์ การกระทำดังกล่าวว่า จะเป็นการไม่ส่งเสริมผู้ประกอบการ ทำให้ อย. อยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาโดยตลอด

ขณะเดียวกัน ภก.ประพนธ์ เผยด้วยว่า ได้มีการขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างกูเกิล (Google) เฟซบุ๊ก (Facebook) และไลน์ (LINE) แล้ว ทว่า ตัวแทนของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศส่วนหนึ่งระบุว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องส่งเรื่องให้บริษัทแม่เป็นผู้พิจารณา

“อย่างกูเกิลเขายอมทำให้ แต่เวลาบล็อก เขาบล็อกทั้งหมด เช่น คำว่า ลดความอ้วน หากถูกบล็อก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ก็จะถูกบล็อกทั้งหมด”

ทั้งนี้ ในมุมของที่ปรึกษา อย. ระบุว่า จะดีกว่า หากผู้บริโภคมีความรู้ และทัศนคติที่ถูกต้องในด้านสุขภาพ และไม่หลงเชื่อดาราที่ถูกจ้างมาโฆษณา ส่วนการจะเพิ่มคนมอนิเตอร์ให้มากขึ้นนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถึงเราปิดได้ คนก็จะหาทางไปเปิดใหม่ได้อยู่ดี ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรมองไปที่ต้นตอ และแก้ให้ถูกจุด


Add Friend

Avatar photo