Finance

โบรกฯประสานเสียง!! หุ้นไทยมีลุ้นทะยานแตะ 1,700 จุด

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดัชนีหุ้นไทยผันผวนและแกว่งตัวในกรอบแคบๆ โดยขยับเพิ่มขึ้นเพียง 0.72%เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอความชัดเจนปัจจัยที่มีอิทธิพลทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากสุด 50 อันดับแรก ที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นมากสุด ประกอบด้วย หุ้น IVL ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.29% รองลงมาหุ้น PTTGC เพิ่มขึ้น 5.88% หุ้น TRUE เพิ่มขึ้น 5.88% หุ้น TISCO เพิ่มขึ้น 5.74% และหุ้น DTAC เพิ่มขึ้น 5.73%

หากพิจารณาแยกตามการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุน พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 3.41 พันล้านบาท สถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1.67 พันล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 5.2 พันล้านบาท และนักลงทุนในประเทศมียอดขายสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท

ประมาณการดัชนีหุ้นไทย มี.ค. 62 2 01

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของโบรกเกอร์ได้คาดการณ์แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยเดือนมีนาคม 2562 ประเมินว่า ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นไปยืนแตะในระดับ 1,700 จุด เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนเชิงบวก ทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลสรุปการเลือกตั้งส.ส.ของไทย น่าจะช่วยหนุนให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นไปต่อไปได้ ขณะที่จากสถิติย้อนหลังจะพบว่า ดัชนีหุ้นในเดือนมีนาคมให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าอีกด้วย

บล.ทรีนีตี้  ประเมินว่า ฝ่ายวิจัยได้มองภาพเดือนมีนาคม แกว่งตัวในกรอบ 1,600 – 1,700 จุด โดยประเมินว่าดัชนีที่อยู่สูงกว่าระดับ 1,660 จุดขึ้นไปเป็นดัชนีที่ซื้อขายอิงบนพื้นฐานของกำไรปีหน้าแล้ว เนื่องจากหากอิงบนกำไรปีนี้จะเทียบเท่าระดับพีอีเรโชล่วงหน้า (Forward PE) เกินกว่า 15 เท่าไปแล้ว

ทั้งนี้ หากดัชนีจะไปซื้อขายบนมูลค่าพื้นฐานปีหน้านั้น ในเบื้องต้นขอใช้ระดับ Forward PE ที่ 14 เท่าเสียก่อน ซึ่งจากการคำนวณจะได้ระดับดัชนีเหมาะสมที่ 1,690 จุด และเป็นที่มาของแนวต้าน 1,700 จุดของในเดือนมีนาคมนี้ ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำชะลอการลงทุนใหม่และเลือกถือหุ้นปลอดภัย 3 กลุ่ม จนกว่าดัชนีจะมีการย่อตัวลงมาเสียก่อน

ปัจจัยบวกในเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ การส่งสัญญาณของ Fed ซึ่งจะต้องติดตามการประชุม FOMC กลางเดือน โดยมองว่ามีโอกาส 50:50 ที่ Fed จะปรับลดประมาณการ Dot plots ปีนี้ลงจาก 2 ครั้งเหลือ 1 ครั้ง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับ Timeline การยุติโครงการลดขนาดงบดุลในช่วงถัดไป

เลือกตั้ง

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามและเป็นได้ทั้งบวกและลบ ได้แก่ ผลการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศวันที่ 24 มีนาคม รวมถึงหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังเสถียรภาพของรัฐบาลและการออกกฎหมายต่างๆในช่วงถัดไป

รวมทั้งการประกาศผลการพิจารณาของ MSCI ว่าจะมีการนำข้อมูล NVDR เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคัดเลือกหรือไม่ ขณะที่การพัฒนาการของประเด็น Brexit ว่าจะมีการเลื่อนเส้นตายวันที่ 29 มีนาคมออกไปหรือไม่ หากไม่เลื่อนคาดจะเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ ความเป็นไปได้ที่นักวิเคราะห์จะปรับลดประมาณการกำไรลงต่อ จากการที่บจ.จะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานที่สืบเนื่องมาจากการบังคับใช้ พรบ.แรงงานฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งมีในส่วนของเงินชดเชยเลิกจ้างเพิ่มขึ้น (อาจเป็น One-time item ที่เกิดขึ้นในงบการเงินไตรมาส 1ปี 2562 ของหลายบริษัท)

ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงปรับตัวลงต่อ ล่าสุดจีนรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตประจำเดือนกุมภาพันธ์ลดลงต่อสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี สะท้อนว่าตลาดนั้นรับรู้ปัจจัยบวกจากการเลื่อนเส้นตายการเจรจาการค้าไปพอสมควรแล้ว

ด้านการส่งออกของไทยที่หดตัวมากสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยเป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง จากการที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และผลพวงจากสงครามการค้า โดยยังคงแนะนำ ลดน้ำหนักลงทุน(Underweight) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสำคัญ เช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

กลยุทธ์การลงทุนแนะนำถือหุ้นปลอดภัย 3 กลุ่มต่อไป ได้แก่ หุ้นขนาดใหญ่ปันผลสูงที่ราคายังคงปรับตัวได้น้อยกว่าตลาด Laggard ได้แก่ BBL, PTTGC, BCP (ตัด KTB และ SCB ออกเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะต้อง Book ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น และ SCB ยังมีความเสี่ยงที่อาจถูกลดน้ำหนักจาก MSCI หากมีการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่)

กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ AOT, AAV, ERW, CENTEL, SPA, BEAUTY, DDD, TKN และกลุ่มที่ราคารับรู้ประเด็นร้ายไปมากแล้ว ได้แก่ BDMS, BPP, CK

หุ้น6

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนเดือนมีนาคม ประเมินว่า ดัชนีจะมีความผันผวนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ จากปัจจัยการเมืองในประเทศ นำโดยวันที่ 7 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญแถลงคดียุบพรรคทษช. (ผลอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงในโค้งสุดท้าย) และ 24 มีนาคม การเลือกตั้งส.ส.ทั่วประเทศ ซึ่งยากมากต่อการประเมินผล

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นพรรคผสมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระยะแรกอาจทำให้การบริหารไม่เรียบง่ายมากนัก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ แนะนักลงทุนจับตา ผลของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยหลัก ประกอบกับจะเป็นช่วงที่ Democrat เปิดศึกคดี Trump ทำให้ภาพรวมในเดือนนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นเดือนแห่งปัจจัยการเมืองโลก, สหรัฐ และไทย ซึ่งจะทำให้ความผันผวนสูง

ประเมินกรอบการแกว่งตัวดัชนีในเดือนมีนาคมที่ 1,620 – 1,680 จุด คงแนะนักลงทุนให้น้ำหนักการลงทุนใน Domestic play นำโดย CPALL, BEM, EGCO และเลือก PTTEP เป็นตัวแทน Global play พร้อมคงสัดส่วนเงินสด 40%

บล.เอเซียพลัส เชื่อว่า ในเดือนมีนาคม คาดเดินหน้าเลือกตั้ง เป็นแรงส่ง Fund Flow ไหลเข้า โดยสรุป Fund Flow ตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค 3.05 พันล้านดอลลาร์ แต่สลับมาขายหุ้นไทยเล็กน้อย 106 ล้านดอลลาร์หรือ 3.4 พันล้านบาท เนื่องจากช่วงกลางเดือน ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับความเสี่ยงด้านการเมือง ส่งผลให้ Fund flow ไหลออกราว 1.05 หมื่นล้านบาท  แต่จากต้นปี-ขณะนี้ ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย 3.3 พันล้านบาท

แนวโน้ม Fund Flow ในเดือนมีนาคม มีโอกาสไหลกลับเข้ามา จากประเด็นบวกเฉพาะตัว อย่าง การเลือกตั้ง อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า Fund flow มักจะไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยในเดือนมีนาคมสูงถึง 9 ใน 10 ปี ด้วยปริมาณเฉลี่ยที่สูงถึง 1.42 หมื่นล้านบาท (มากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ)หนุนให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.21% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 ใน 10 ปี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight