COLUMNISTS

เบื้องหลังดีล ‘ควบแบงก์’ ไม่สดใสเสมอไป

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1047

สัปดาห์ที่แล้ว แบงก์ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย ประกาศปิดดีลควบกิจการกับ ธนาคารธนชาต อย่างเป็นทางการ แต่ในถ้อยแถลง ระบุว่าเอ็มโอยูที่เซ็นกันนั้น ไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งตีความได้ว่า ดีลที่มีมูลค่าราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท ยังมีโอกาสพลิกอีก แบงก์ทีเอ็มบี กระทรวงคลังถือหุ้น 25.92% ไอเอ็นจี 25.02% ที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นทั่วไป  ส่วนแบงก์ธนชาตมี บมจ.ทุนธนชาต (บริษัมแม่) ถือหุ้น 51.91% โนวาสโกเทีย 48.99%

กระบวนการควบรวมเท่าที่เปิดเผยคือ ดีลนี้ต้องใช้ทุนราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท ทุนก้อนนี้ 70% จะมาจากการเพิ่มทุน ซึ่งจะแยกเป็น ก้อนๆแรก ประมาณ 5-5.5 หมื่นล้านบาท ออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้ 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ แบงก์ธนชาติคือ บมจ.ทุนธนชาต กับ โนวาสโกเทีย แบงก์  ราคา 1.1 เท่าของมูลคาทางบัญชี ส่วนที่สอง 4-4.5 หมื่นล้านบาท ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ ทีเอ็มบี

เบื้องต้น อภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกประกาศว่าก่อนคลังจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ โดยจะใช้เงินจากกองทุนรวมวายุภักษ์ และเงินที่คลังมีอยู่ราว 1หมื่นล้านบาท หลังการเพิ่มทุนตามสัดส่วน หุ้นของกระทรวงการคลัง ใน ทีเอ็มบี จะลดจากเดิมเล็กน้อย (ปัจจุบันถืออยู่ 25.92%) ส่วนบมจ.ทุนธนชาต จะถือหุ้นในทีเอ็มบี ราว 20% ไอเอ็นจีกรุ๊ป 20% ส่วนโนวาสโกเทียสัดส่วนหุ้นจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อการควบรวมแล้วเสร็จแบงก์ทีเอ็มบี(ใหม่) จะมีสินทรัพย์ รวม ราว1.9 ล้านล้านบาท (ปัจจุบัน แบงก์ธนชาต มีสินทรัพย์ 1.06 ล้านล้านบาท ส่วน ทีเอ็มบี  8.9 แสนล้านบาท ) ขยับเข้ามาใกล้ แบงก์กรุงศรีฯ อันดับห้าของระบบ ที่มีสินทรัพย์ราว 2.09 ล้านล้านบาท  งานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันหนักแน่นว่า ขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้น

ทั้ง แบงก์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมกันโดยระบุว่า การควบรวมครั้งนี้นอกจากขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ยังเป็นรวมจุดแข็งของ ฝ่าย ทีเอ็มบี ทีเชี่ยวชาญระดมเงินฝากและ แบงก์ธนชาต ชำนาญตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ จะทำให้เกิดจุดแข็งใหม่  และยังก่อประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ ฐานลูกค้าเพิ่มเป็นกว่า 10 ล้านราย และขนาดที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ตามขั้นตอนหลัง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปโครงสร้างผู้ถือหุ้นชัดเจน จะมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษภายใน 2-3 เดือนข้างนี้ และตั้งเป้าปิดดีลภายในปี 2562

จากนั้นมาสู่ขั้นตอนที่พนักงานต้องลุ้นคือรวมคนและสาขา ตัวเลขที่ระบุวันแถลง  ปัจจุบันแบงก์ธนชาตมีพนักงาน 12,000 คน ส่วนทีเอ็มบีมี 8,000 คน ฝ่ายบริหารที่แถลงบอกว่า จำนวนพนักงานที่เหมาะสมคือ 15,000 คน  

สำหรับจำนวนพนักงานส่วน เกิน 3,000 คนโดยประมาณนั้น ฝ่ายบริหารบอกว่าใกล้เคียงกับตัวเลขเกษียณประจำปี จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา (คาดว่า) ด้านสาขาทีเอ็มบีมี 400 สาขา แบงก์ธนชาต มี 512 สาขา สาขาที่อยู่ในทำเลทับซ้อนกันต้องเลือกที่ใดที่หนึ่ง

พลิกปูมวงการแบงก์ทั้งทีเอ็มบี และ แบงก์ธนชาต เคยผ่านการควบรวมมาแล้วปี 2547 ทีเอ็มบีควบรวมดีบีเอสไทยทนุ พ่วงบรรษัทอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ส่งผลให้สินทรัพย์รวม เพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาท อันดับทะยานขึ้นไปอยู่ลำดับ 5 ของอุตสาหกรรมเวลานั้น ต่อมาในปี 2550 ทีเอ็มบี ยังได้ไอเอ็นจีแบงก์ มาร่วมทุนส่วนแบงก์ธนชาตเคยควบรวม แบงก์นครหลวงไทยมาแล้วในปี  2553

 หลังดีลจบทีเอ็มบีธนชาต จะได้ประโยชน์จากสเกลใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ความสามารถในการลงทุนและแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือนัยหนึ่งคือได้รับพลังผนึกจากการควบรวม แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อ แบงก์รวมเป็น แบงก์  ย่อมมีส่วนเกิน โดยเฉพาะตำแหน่งงาน แน่นอน พนักงานจำนวนหนึ่งต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังดีลไม่ได้สดใสเสมอไป