POLITICS-GENERAL

‘โรคประสาทหูเสื่อม’ อีกความเสี่ยงคนทำงาน

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ เตือนอีกโรควัยทำงาน “โรคประสาทหูเสื่อม” ย้ำผู้สัมผัสกับเสียงดังในที่ทำงานเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน มีความเสี่ยงเกิดโรค แนะใช้อุปกรณ์ป้องกัน และรับการตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้ง

นพ.สมศักดิ์ กรมแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน เป็นโรคที่พบบ่อยมาก ในผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดัง ได้แก่ งานอุตสาหกรรมโลหะ งานตัดไม้ เลื่อยไม้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยาง และพลาสติก อาชีพขับรถรับจ้าง เป็นต้น

โดยพบว่าการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ อาจมีผลทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งมักมีความผิดปกติของหูทั้ง 2 ข้างมากกว่าข้างเดียว ซึ่งการสูญเสียการได้ยินอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น บาดเจ็บที่ศีรษะ สัมผัสสารเคมีที่มีพิษต่อหู สัมผัสกับเสียงดังที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ผู้ที่มีภาวะหูเสื่อมจากการได้ยิน อาจพบปัญหาการได้ยินลดลง

โดยอาการที่พบบ่อย คือ ฟังคนอื่นพูดไม่ชัด หรือไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ยินลำบากมากขึ้น ถ้าในบริเวณนั้นมีเสียงดัง ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางเสียง จึงควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน และตรวจความสามารถทางการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหูเสื่อมในอนาคต

รพ.นพรัตนปรับ
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาเรื่องการได้ยินแล้ว ผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยิน มักจะได้ยินเสียงดังในหู เช่น เสียงหึ่งๆ หรือ เสียงกระดิ่ง ความผิดปกติดังกล่าว อาจจะเป็นพักๆ หรือเป็นตลอดเวลาและอาการจะเป็นมากขึ้น เมื่อต้องสัมผัสกับเสียงดังมากๆ นอกจากนี้การได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู จะทำให้รู้สึกรำคาญ ดังนั้นผู้ป่วย มักจะบ่นเรื่องการนอนไม่ค่อยหลับ หรือไม่มีสมาธิในการทำงาน

สถานประกอบการควรเฝ้าระวังด้านสุขภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยตรวจการได้ยินให้แก่ลูกจ้าง การซักประวัติรวมถึงประวัติการทำงานที่ต้องสัมผัสเสียงดัง การใช้ยา โรคประจำตัว ตลอดจนการเจ็บป่วยในอดีต และปัจจุบัน เนื่องจากลูกจ้างทุกคนที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีระดับเสียงดังมากกว่า 140 เดซิเบล ต้องได้รับการตรวจการได้ยิน

ทั้งนี้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยงานอาชีวเวชศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ได้จัดให้มี “คลินิกโรคจากการทำงาน” ดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงาน พนักงานออฟฟิศ ประชาชนวัยทำงาน แบบครบวงจร โดยการตรวจวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ให้คำแนะนำ แก่เจ้าของสถานประกอบการ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตรวจร่างกายตามความเสี่ยงรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพให้แก่สถานประกอบการ

2222

Avatar photo