Business

Set Zero รถเมล์ทั่วกรุงตั้งเป้า 70% ต้องเปลี่ยนเป็นรถใหม่ใน 2 ปี

“คมนาคม” พลิกหากฎหมาย Set Zero รถเมล์กรุงเทพฯ ตั้งเป้า 70% จะเปลี่ยนเป็นรถใหม่ใน 2 ปี ด้าน “สาย8” ต้องเคลียร์ชื่อคนถือสัมปทาน ป้องกันปัญหาแย่งผู้โดยสารซ้ำซาก

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง วานนี้ (27 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รถเมล์) ทั้งหมด แต่ก็ได้แนวทางการปฏิรูปเบื้องต้นแล้ว

สำหรับแนวทางเบื้องต้นคือ กระทรวงคมนาคมจะคงเส้นทางรถเมล์ไว้ 208 เส้นทางเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความสับสน แต่จะประกาศยกเลิกใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมทั้งหมด (Set Zero) ไม่ว่าจะเหลืออายุกี่ปี แล้วให้ผู้ประกอบการรายเดิมกลับมายื่นขอใบอนุญาตใหม่อีกครั้งเพื่อเริ่มต้นนับ 1 ใหม่พร้อมกัน

รถเมล์

โดยที่ประชุมฯ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งฯ ไปจัดเตรียมข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกรอบเวลาการปฏิรูปมาเสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อกำหนดระยะเวลาการเริ่มต้นปฏิรูปและกฎหมายที่จะใช้ Set Zero ใบอนุญาตทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาดำเนินการ Set Zero เหมือนที่เคยมีแนวคิดก่อนหน้านี้

หลังจาก Set Zero แล้ว กรมการขนส่งฯ จะเปิดให้ผู้ประกอบการมาขอรับใบอนุญาตใหม่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ประกอบการจะต้องนำรถใหม่มาให้บริการในสัดส่วน 70% ของฟลีทรถทั้งหมด รวมถึงต้องติดตั้ง CCTV ระบบ GPS และอื่นๆ ตามที่กำหนดด้วย

โดยผู้ประกอบการที่มีความพร้อมก็สามารถนำรถใหม่มาให้บริการได้ทันที แต่ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อม ก็อาจต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่และต้องทำตามเงื่อนไขดังกล่าวให้ได้ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ระยะ 2 ปี ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตและกรมการขนส่งฯ ก็จะนำใบอนุญาตดังกล่าวไปประกาศหาผู้เดินรถรายใหม่มาทดแทน

รถเมล์ 1

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปรถเมล์จะออกเป็น 5 กลุ่ม จำนวน 2 เฟส ได้แก่

เฟสที่ 1 เป็นเส้นทางที่มีผู้ประกอบการรายเดียว จึงสามารถปฏิรูปได้ง่าย ประกอบด้วย 1.เส้นทางรถเมล์ที่มีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการเพียงรายเดียวจำนวน 88 เส้นทาง และ 2.เส้นทางที่มีรถเอกชนร่วมบริการ (รถร่วมฯ) ให้บริการเพียงรายเดียวจำนวน 59 เส้นทาง ซึ่งจะเปิดให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตใหม่ได้ก่อน

เฟสที่ 2 เป็นเส้นทางที่มีผู้ประกอบการหลายราย จึงต้องเจรจากันให้เหลือผู้ประกอบการเพียง 1 ราย ก่อนมาขอรับใบอนุญาตใหม่ ประกอบด้วย 1. เส้นทางที่ ขสมก. ให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมฯ 1 ราย ซึ่งมีจำนวน 8 เส้นทาง, 2. เส้นทางที่ ขสมก. ให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมฯ มากกว่า 1 ราย ที่มีจำนวน 21 เส้นทาง และ 3.เส้นทางที่มีผู้ประกอบการรถร่วมฯ มากกว่า 1 ราย จำนวน 31 เส้นทาง ยกตัวอย่างเช่น รถเมล์สาย 8 เส้นทางแฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ที่มีผู้ประกอบการหลายรายและเกิดปัญหาการแย่งผู้โดยสาร

“ถ้าที่ประชุมฯ เห็นชอบก็เดินหน้าปฏิรูปได้ ก็คาดว่าจะเริ่มเห็นการปฏิรูปเฟสแรกในเดือนมีนาคม และตั้งเป้าว่าจะต้องเห็นรถเมล์ในกรุงเทพฯ 70% เปลี่ยนเป็นรถเมล์ใหม่ภายใน 2 ปี โดยกรมการขนส่งฯ ก็ได้นำแนวทางนี้ไปจัดประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการแล้ว เขาก็โอเค” นายจิรุตม์กล่าว

รถเมล์เอ็นจีวี

Avatar photo