World News

‘ชัยชนะมหาธีร์’ ความพ่ายแพ้ตลาดหุ้นมาเลย์?

นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย จะมีความผันผวนมากขึ้น หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของ “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” คว้าชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ยุติการครองอำนาจร่วม 60 ปี ของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (บีเอ็น) แม้นักวิเคราะห์บางราย จะมองว่า มีโอกาสที่จะแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาวก็ตาม

มหาธีร์นำฝ่ายค้านคว้าชัยเลือกตั้งมาเลย์

พันธมิตรฝ่ายค้านของมาเลเซีย ที่รวมตัวกันในชื่อ ปากาตัน ฮาราปัน หรือกลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง สามารถกวาดที่นั่งในสภาไปได้ 113 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง มากกว่าจำนวน 112 ที่นั่งสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

อนินดา มิตรา นักวิเคราะห์อาวุโส จากบีเอ็นวาย เมลลอน อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนท์ ระบุว่า ผลการเลือกตั้งมาเลเซียที่ออกมา ถือเป็นการผลิกโผครั้งใหญ่ ไม่มีผู้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นรายใด คาดการณ์ถึงผลการเลือกตั้งเช่นนี้

“ผลเลือกตั้งที่ออกมา จะทำให้นโยบายในระยะใกล้ของรัฐบาลมาเลเซียมีความไม่แน่นอนในระดับสูง”

ตลาดจ่อเดินขาลง

นิซาม ไอดริส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และดอกเบี้ย ของแมคควอรี กรุ๊ป บอกว่า ประเด็นต่างๆ ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน รวมถึง การไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากบีเอ็น บริหารประเทศมาตั้งแต่มาเลเซียประกาศเอกราช และความเป็นไปได้ที่จะเกิดจลาจล หรือความวุ่นวายระหว่างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีหุ้นต่างๆ ของมาเลเซีย อาจตกอยู่ในภาวะขาลง หลังเปิดการซื้อขายในวันจันทร์ (14 พ.ค.)

 ความพ่ายแพ้ตลาดหุ้นมาเลย์?

กาเร็ธ เลเธอร์ และอเล็กซ์ โฮล์มส์ 2 นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ เขียนในรายงานที่ส่งให้กับลูกค้าว่า มีแนวโน้มที่ตลาดการเงินต่างๆ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อผลเลือกตั้งมาเลเซียในทางที่ไม่ดีอย่างมาก

“ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ร่วงไปแล้ว 2% และตลาดหุ้นก็ตกไปแล้ว 3% ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า”

ส่วนเจอรัลด์ แอมโบรส ซีอีโอ อาเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสต์เมนท์ ชี้ว่า หุ้นตัวใหญ่ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลมาเลเซีย มีแนวโน้มที่ราคาจะดิ่งลงอย่างหนัก รวมถึง เมย์แบงก์ เทนากา เนชันแนล เทเลคอม และซีไอเอ็มบี

ผลดีระยะยาว?

แม้จะยังต้องรอความชัดเจนมากกว่า เพื่อประเมินนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ในระยะใกล้นั้น มีแนวโน้มที่สถานะการคลังจะถดถอยลงอย่างมาก

ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริง ก็มีความเป็นไปได้ที่มหาธีร์จะผลักดันแผนยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้า และบริการ (จีเอสที) ที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ประกาศออกมาเมื่อปี 2558

อนุชกา ชาห์ นักวิเคราะห์อาวุโส จากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน มาเลเซียอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน และมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพารายได้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยากมาก รวมถึง ลดฐานรายได้ของรัฐบาลลงมา ถ้าหากต้องการเดินหน้าแผนจีเอสที

กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายยังคงมีความหวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่บริหารประเทศ

“ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ในที่สุดแล้ว มาเลเซียก็จะเริ่มต้นแก้ปัญหาด้านสถาบันบางเรื่อง ที่คอยฉุดรั้งโอกาสในระยะยาวของประเทศ” นักวิเคราะห์จากแคปิตัล อิโคโนมิกส์กล่าว พร้อมประเมินว่า เรื่องอื้อฉาวกองทุน “วันเอ็มดีบี” อาจเป็นประเด็นหลัก ที่ทำให้ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight