Business

จับตาจุดเปลี่ยน ‘ทีวีดิจิทัล’แห่คืนไลเซ่นส์

หลังศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี)  เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2561 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

court

โดยบริษัท ไทยทีวี จำกัด ฟ้องว่า กสทช. มีคำสั่งลงวันที่ 12 ก.พ. 2559 เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ 2 ช่อง คือ ไทยทีวี และเอ็มวีทีวี แฟมิลี่ (โลก้า)  และให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีอ้างว่า ไทยทีวี ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนเลิกการประกอบกิจการ

กรณีนี้ ไทยทีวี เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากไทยทีวีได้แจ้งยกเลิกใบอนุญาตและยุติการดำเนินการตามใบอนุญาต ตั้งแต่เดือน พ.ค.2558

ศาลเห็นว่า การดำเนินการของ กสทช. ในการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิทัล เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนจึงไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิทัล รวมทั้งการใช้คูปอง ทำให้การแลกซื้อเครื่องรับสัญญาณเป็นไปอย่างล่าช้า และประชาชนไม่สนใจรับชมทีวีดิจิทัลมากเท่าที่ควร

รวมทั้งโครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (Mux)กรมประชาสัมพันธ์ ไม่ได้ติดตั้งและขยายโครงข่ายส่งสัญญาณ ตามที่ได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ที่ส่งผลกระทบต่อการรับชมทีวีดิจิทัลไม่ทั่วถึง

เมื่อ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังกล่าว ไทยทีวี จึงมี “สิทธิบอกเลิก” การให้บรกิารทีวีดิจิทัล ทั้ง 2 ช่องรายการ  ที่ถือเป็น “สัญญาร่วมการงาน” แทนรัฐในการให้บริการคลื่นความถี่สาธารณะ  

นอกจากนี้ ศาลได้สั่งให้ กสทช. คืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) งวดที่ 3-6 ประมาณ 1,750 ล้านบาท ให้บริษัทไทยทีวี  เนื่องจากเห็นว่า กสทช. ให้ฐานะผู้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ มีความล่าช้าในการขยายโครงข่าย และดำเนินการแจกคูปองทีวีดิจิทัลล่าช้า

ในการฟ้องร้องคดีนี้ ไทยทีวี ได้ยื่นคำร้องขอเรียกคืน  เงินประมูลค่าใบอนุญาต งวดที่ 1 และ 2 คืน จาก กสทช. ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา  พร้อมเรียกค่าเสียหลายจากการประกอบกิจการมูลค่า 700 ล้านบาท

กรณีศาลพิจารณาว่า ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่ 2  ทั้ง 2 ช่องรายการ เป็นเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดที่ครบกำหนดระยะเวลา  1 ปีนับจาก ไทยทีวี ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไทยทีวี ยังประกอบกิจการให้บริการทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ทั้ง 2 ช่องก่อนขอเลิกประกอบกิจการ

ดังนั้นไทยทีวี “จึงมีหน้าที่ต้องชำระ” ค่าใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทั้ง 2 ช่อง ให้แก่ กสทช.  แต่หลังจาก ไทยทีวี บอกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทั้ง 2 ช่องโดยชอบแล้ว ย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดหลังจากบอกเลิกสัญญา และ กสทช. ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (แบงก์การันตี)  งวดที่ 3-6  ให้ไทยทีวี

ส่วนความเสียหายของไทยทีวี ที่เกิดจากการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ล้วนเกิดจากการดำเนินธุรกิจปกติทั่วไป ที่มีการแข่งขันจากจำนวนช่องรายการที่เพิ่มขึ้น  ไทยทีวีจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวกับ กสทช.ได้

ศาลปกครองกลาง ได้พิพากษาพิพากษาให้  กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ที่ ไทยทีวี วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 3-6  ให้แก่ ไทยทีวี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้ ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากคดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

thitv
พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย

หลังศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา  นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย (ติ๋ม ทีวีพูล) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่องไทยทีวี และโลก้า กล่าวว่า “พอใจ” กับคำพิพากษา  และเชื่อว่าคำตัดสินของคดีนี้ จะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล รายอื่นที่ต้องการขอยกเลิกประกอบกิจการ  เนื่องจาก กสทช. ไม่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ตามประกาศฯ หรือ เปลี่ยนผ่านล่าช้า จะมีทางออกในการ “คืนใบอนุญาต” ได้   ปัจจุบันมีทีวีดิจิทัล ฟ้องคดี  กสทช. ในกรณีดังกล่าวอีกว่า 10 ช่อง

สำหรับการเรียกร้องให้ กสทช.คืนเงินประมูลใบอนุญาต งวดที่ 1 และ 2  รวมทั้ง คำร้องเรียกค่าเสียหาย 700 ล้านบาท ที่ศาลปกครองกลาง ยกคำร้องนั้น  จะขออุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุดต่อไป

sombat
สมบัติ ลีลาพตะ

ขณะที่ตัวแทนฝั่ง กสทช.  นายสมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.  กล่าวว่า “ยอมรับคำพิพากษา” แต่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน  ในประเด็นที่ศาล ชี้ว่า การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นสัญญาร่วมการงานกับภาครัฐ  ซึ่งการประมูลดังกล่าว เป็นลักษณะการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ  ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าประมูลครั้งเดียว  แต่ตามประกาศ  กสทช.กำหนด การจ่ายเงินเป็นรายงวด รวม 6 งวด

มองว่าในอนาคตรูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม จะไม่มีการแบ่งจ่ายรายงวด  เพราะมีความเสี่ยงเหมือนกรณีไทยทีวี  ที่ศาลพิจารณาว่าเป็นสัญญาใช้คลื่นความถี่รายปี เมื่อบอกเลิกสัญญา จึงไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ฯ

นอกจากนี้การที่ไทยทีวี ยกประเด็น กรมประชาสัมพันธ์ ไม่ขยายโครงข่าย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการส่งสัญญาณทีวีดิจิทัล ไม่ครอลคลุมพื้นที่  ซึ่งข้อเท็จจริง กสทช. ได้ประกาศแผนขยายโครงข่ายไว้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนประมูลว่า การขยายโครงข่ายจะดำเนินเป็นระยะ คือ ปีที่1 ครอบคลุมพื้นที่ 50% ปีที่ 2  สัดส่วน 80%  ปีที่3 สัดส่วน 90%  และปีที่ 4  ครอบคลุม 95% หรือทั่วประเทศ

อีกทั้ง ไทยทีวี ไม่ได้ใช้โครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์  แต่ใช้โครงข่ายไทยพีบีเอส ซึ่งดำเนินการติดตั้งระบบส่งสัญญาณเร็วกว่าแผนงานที่ กสทช.กำหนด

ทางด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าคำพิพากษาศาลปกครองกลาง  ถือเป็นทางออกที่ดี ชี้ทางให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตได้ เพราะก่อนหน้านี้ มีผู้ประกอบการต้องการ “ยกเลิก”ประกอบกิจการอยู่แล้ว โดยไม่ต้องการจ่ายเงินงวดที่เหลือ

thakorn
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

“ที่ผ่านมา กสทช. ไม่กล้าตัดสินใจเรื่องการคืนใบอนุญาต แต่เมื่อมีคำพิพากษาออกมา จะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ประกอบการช่องอื่น ดูคดีนี้เป็นตัวอย่าง”

ตามขั้นตอนจะเสนอบอร์ด กสทช. พิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากบอร์ดให้อุทธรณ์ ก็ยังไม่ต้องคืนแบงก์การันตี เพราะต้องรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

“ส่วนตัว รู้สึกแฮปปี้กับคำพิพากษามาก เพราะเป็นการผ่าทางตันให้ทั้งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและกสทช.”

จากการสอบถามผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  ต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีไทยทีวี ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นสัญญาณที่ดี”  ในการเปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้  มีช่องทาง “คืนไลเซ่นส์” และออกจากตลาด  ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ ยื่นเรื่องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา

โดยต้องจับตาไปที่การจ่ายเงินค่าใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ในเดือน พ.ค.นี้ ว่าจะมีรายใด  “ไม่จ่าย” และ “ขอยกเลิก” ประกอบกิจการเหมือนกรณีไทยทีวี หรือไม่

แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเท่านั้น ซึ่งทั้ง ไทยทีวี และ กสทช. จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ต่อไป

Avatar photo