Economics

จีซีตั้งเป้า 5 ปี ‘Set Zero’ พลาสติกใช้แล้วทิ้ง

จีซี เดินหน้าลดกำลังผลิตพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เหลือศูนย์ภายใน 5 ปี หวังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เล็งขยายฐานพลาสติกชีวภาพต่อเนื่อง เดินหน้าโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เม็ดเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท คาดปี 2563 พร้อมเดินเครื่อง ขณะที่แผนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ต้องทบทวนโครงการใหม่ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ส่งผลต้นทุนสูงขึ้น 

S 12476572

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทได้มอบนโยบายให้จีซีเดินหน้าไปสู่ไบโอพลาสติก เพื่อนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้น (Single Used Plastic) และใช้ในผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายอย่างรวดเร็ว อาทิ แก้วกาแฟ  โดยเรามีแผนจะเลิกผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงช็อปปิ้ง ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่  150,000 ตันต่อปี ให้เหลือศูนย์ภายใน 5 ปีนับจากนี้

“กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลิกใช้ถุงพลาสติกที่ประชาชนมีความตระหนักมากขึ้น ทำให้ตลาดการใช้ไบโอพลาสติกขยายตัว คาดว่าจะทำให้การผลิตไบโอพลาสติกประเภท พอลิบิวทิลีนซักซิเนต (Polybutylene Succinate หรือ PBS)ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 20,000 ตันต่อปี ซึ่งผลิตอยู่แล้ว โดยบริษัท PTTMCC Biochem และ Bio Compound”

นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มการผลิตไบโอพลาสติกประเภทอื่นๆด้วยในประเทศไทย เช่น พอลีแลคติคแอซิด ( Polylactic Acid :PLA  ) ซึ่งบริษัทเนเจอร์เวิร์ก ( Natureworks ) จากสหรัฐ ก็สนใจที่จะมาตั้งโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ในไทย แต่จะต้องรอความชัดเจนของโครงการผลิตสารตั้งต้น หรือ กรดแลคติก (lactic Acid ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ จังหวัดนครสวรรค์แล้วเสร็จก่อน  ซึ่งโครงการนี้ จีซี ร่วมลงทุนกับ บริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ

IMG 20190222 152541

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างเดินหน้าแผนการลงทุนโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ที่มาบตาพุด จังหวัดระยองด้วย กำลังผลิต 40,000 ตันต่อปี มูลค่าลงทุน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสุดท้าย ทั้งผลตอบแทนการลงทุน พันธมิตรร่วมทุน แหล่งวัตถุดิบ การออกแบบ รวมถึงต้นทุน คาดว่าทุกอย่างจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนั้นจะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท และลงนามกับพันธมิตรร่วมทุนจากยุโรปต่อไป ทั้งนี้โรงงานรีไซเคิลดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี จากวงเงินที่บริษัทจะลงทุนรวมในพื้ันที่นั้น 150,000 ล้านบาทในช่วง 3-4 ปีนี้

“บริษัทพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบโรงงานรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งกลิ่นและน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก จากการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานสากล โดยมีแผนที่จะขยายโครงการอีก แต่ก็ต้องการให้บริษัทอื่นๆมาช่วยกันทำ เพราะเป็นโครงการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม “

IMG 20190222 152613

ส่วนโครงการ US Petrochemical Complex ที่จีซี จับมือกับ บริษัท DAELIM เกาหลีใต้ เพื่อตั้งโรงงานผลิตเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 1 ล้านตันต่อปีที่สหรัฐ และโรงงานต่อเนื่อง ทั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) โรงงานผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG)  และโรงงานผลิตเอทิลีนออกไซด์ (EO)  เงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านดอลลาร์นั้น

โครงการนี้จะต้องมีการศึกษาต้นทุนใหม่ เพราะต้นทุนสูงขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว ทำให้ค่าแรง และค่าสินค้าปรับเพิ่มขึ้น คาดว่าใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันการแข่งขันก็สูงขึ้นด้วย แต่บริษัทจะไม่พับแผนแน่นอน แม้จะมีโครงการศึกษามาตั้งแต่ปี 2558 เพราะบริษัท DAELIM ก็ยังต้องการลงทุนต่อไป เพียงแต่โครงการนี้เงินลงทุนสูง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า การลงทุนในปีนี้ถือว่าเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย เพราะทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้ผู้ใช้สินค้าระมัดระวังมากขึ้น และราคาผลิตภัณฑ์ยังอ่อนตัว แต่ก็เชื่อว่าด้วยการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ปี 2562 บริษัทจะมีกำไรใกล้เคียงปี 2561 ที่มีผลกำไรสุทธิรวม 40,069 ล้านบาท

Avatar photo