Economics

ปตท.เตรียมงบ 1.8 แสนล้าน 5 ปี รอจังหวะซื้อกิจการ-ร่วมลงทุน

ปตท.วางงบ 1.8 แสนล้านบาท รอจังหวะซื้อกิจการ-ร่วมลงทุนโครงการใหญ่ ลุยลงทุนธุรกิจใหม่ ยา-อาหารเสริมร่วมกับองค์การเภสัชกรรม คาดปีนี้ได้ข้อสรุปผลิตภัณฑ์ พร้อมเดินหน้าธุรกิจแอลเอ็นจี รองรับโรงไฟฟ้า-โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนอีอีซีกลุ่มปตท.ทุ่มเม็ดเงินกว่า 2.6 แสนล้านพัฒนาพื้นที่ ย้ำปัจจัยการเมืองเป็นความเสี่ยงในปีนี้

Mr.Chansin Treenuchagron 3 e1550828258241 1
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่านอกจากงบลงทุนปกติ 5 ปี ระหว่างปี 2562-2566 ที่ปตท.ตั้งไว้รวม 167,114 ล้านบาทแล้ว

บริษัทยังได้ขอกรอบวงเงินกับคณะกรรมการบริษัทปตท. เตรียมสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต เพื่อเร่งการเติบโตไว้อีก 187,616 ล้านบาท ทั้งในลักษณะการเข้าซื้อกิจการ  และการเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน

สำหรับธุรกิจที่ปตท.สนใจ อาทิ พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) , Robotics / AI (Artificial Intelligence) หรือหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเมืองอัจฉริยะ ( Smart City )   เป็นต้น และไม่ว่าเราจะลงทุนอะไรก็ตามผลตอบแทนควรอยู่ในระดับ 8-15% แต่บางเรื่องหากถนัดเราจะลงทุน แต่สำหรับเรื่องที่ไม่ถนัดจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อน

“หากเราไม่เตรียมเงินไว้ หากเจอโอกาสทางธุรกิจดีๆ ก็ทำไม่ได้ และอนาคตปตท.ต้อง modify ถ้าไม่ทำเราก็โตไม่ได้ ”

ptt3

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัทปตท. กล่าวว่า ธุรกิจใหม่ที่ปตท.มองเห็นโอกาสเป็นธุรกิจเทคโนโลยี และวิศวกรรม เพื่อรองรับการใช้พลังงานในอนาคต และ Disruptive Tecnology หรือ การเปลี่ยนโฉมหน้าพลังงาน  ซึ่งนอกจากใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนา ปตท.เป็นฐานในการค้นคว้าวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว ยังจะมีการศึกษาร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ

orn
อรวดี โพธิสาโร

รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย ขณะเดียวกันต้องมีธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามามากขึ้น และธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะธุรกิจยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ โดยเรื่องนี้จะให้บริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญเป็นธงนำ เช่น บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์ใดออกมา

สำหรับแผนการลงทุนหลักของเราในระยะ 5 ปี นางอรดี กล่าวว่า ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะเป็นธุรกิจหลัก เนื่องจากเป็นพลังงา่นที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ที่ต้องการ พลังงานสะอาด มั่นคง และต้นทุนไม่สูง ซึ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะเป็นกลไกที่สำคัญ โดยปตท.วางตำแหน่งเราเป็น “LNG portfolio player “ ด้วย

นายชาญศิลป์ กล่าวเสริมว่า แผนการลงทุน 5 ปี  ( 2562-2566 ) จะเป็นงบลงทุนในส่วนของธุรกิจก๊าซฯถึง 58,832 ล้านบาท เป็นสถานีรับแอลเอ็นจี กำลังผลิต 7.5 ล้านตันต่อปี แล้วเสร็จปี 2565 วงเงินลงทุน 31,912 ล้านบาท และท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 กำลังส่ง 2,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวันแล้วเสร็จในปี 2564 วงเงินลงทุน 17,207 ล้านบาท

“การขยายธุรกิจก๊าซฯเพื่อรองรับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การเปิดเสรีกิจการก๊าซฯ และนำเข้าแอลเอ็นจี รวมถึงการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าในประเทศ” นายชาญศิลป์ กล่าว

ptt1

สำหรับธุรกิจนำเข้าแอลเอ็นจีนั้น ปัจจุบันปตท.มีสัญญาซื้อขายกับ 4 บริษัทใหญ่ ทั้งเชลล์ บีพี ปิโตรนาส การ์ตา 5 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 700-800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 11 ล้านตันต่อปี และใน 3-4 ปีจะเพิ่มเป็น 19 ล้านตัน เพื่อรองรับการใช้แอลเอ็นจีในอนาคต โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามการนำเข้าแอลเอ็นจีน้้น ปตท.จะต้องศึกษาตลาดด้วย เพราะการใช้ไฟฟ้า ก็ไม่ได้ขยายมากอย่างที่คิดปีละ 1% เท่านั้น เพราะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากโซล่าร์เซลล์มากขึ้น

ส่วนการที่ปตท.ไปร่วมยื่นซองประมูลกับ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ส่วนหนึ่ง เพื่อรองรับการขนถ่ายแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งจะช่วยรองรับการนำเข้าก๊าซฯที่ปตท.จะเพิ่มให้ได้เป้าหมายจาก 5 ล้านตันเป็น 19 ล้านตัน ซึ่งกัลฟ์สามารถรองรับปริมาณแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาได้

“เราก็ต้องคบกับคนที่มีความต้องการ ประกอบกับโครงการนี้เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) ซึ่งรัฐต้องการให้เอกชนลงทุนมากกว่ารัฐวิสาหกิจ เราจึงถือหุ้นส่วนน้อยกว่ากัลฟ์” 

ส่วนการประมูลเมกะโปรเจคนั้น หากเป็นธุรกิจที่ชำนาญจะเดินหน้าทันที เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 แต่สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และอู่ตะเภานั้น จะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะถือว่ามีความเสี่ยง และต้องหาพันธมิตรที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทางเลือกมี 3 ทาง คือ เข้าร่วมประมูล ไม่เข้าร่วม หรือรอเหมือนรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ส่วนแผนการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กลุ่มปตท.จะลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวม 264,226 ล้านบาท ในส่วนของอีอีซีไอ ที่วังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง ของปตท. เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะใช้เงินลงทุนรวม 4,100 ล้านบาทในช่วง 5 ปีนี้ 

ptt2

ในส่วนของโครงสร้างทางธุรกิจของปตท.ที่เปลี่ยนไปนั้น  มี 3 เรื่องสำคัญ คือ

1.การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นของปตท. หรือแตกพาร์ เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมนการเป็นเจ้าของปตท. ทำให้มีนักลงทุนรายย่อยเพิ่มจาก 40,000 รายเป็น 120,000 ราย

2.เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เป็น 48.05% โดยซื้อหุ้นจากธนาคารออมสินที่เคยถืออยู่เดิมและต้องการขาย เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคาร

3.การโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมันและหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีโออาร์ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน ซึ่งจะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ นายชาญศิลป์ ระบุว่า มาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ซึ่งปตท.ก็ต้องไปพูดคุย และอธิบายเรื่องราวต่างๆ เพราะเราก็ผ่านรัฐมนตรีพลังงานมาแล้วถึง 31 คน และนายกรัฐมนตรี 15 คน  

 

Avatar photo