Economics

‘บอร์ดบีโอไอ’ หนุนลงทุน ‘สมาร์ทซิตี้’

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์1

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้านคมนาคมขนส่ง ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม ด้านความปลอดภัย ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ ด้านบริการจากภาครัฐ และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะให้ส่งเสริมผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะซึ่งต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ด้านการบริหารจัดการข้อมูล และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน และ 2.ส่งเสริมผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะด้านต่าง ๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้านข้างต้น โดยทั้ง 2 กิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี (มูลค่ายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แบ่งเป็นหากลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี และหากลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) นอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 12 ปี

และยังเห็นชอบเปิดส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล ทั้งสำหรับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยต้องเป็นที่พักที่ได้มาตรฐานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล แก้ปัญหาความแออัดของชุมชน และสภาพของที่พักอาศัยซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน

ทั้งนี้ กิจการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับแรงงานมาตรฐานสากล สามารถดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากตั้งกิจการในพื้นที่ทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี (เฉพาะรายได้จากค่าเช่าที่พักอาศัย และกำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนตามหลักเกณฑ์) และหากตั้งใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปีโดยผู้ขอส่งเสริมจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรีและนราธิวาส) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2561) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายกำลังจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จึงควรขยายเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ทั้งกลุ่มที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่และกลุ่มที่จะเข้าไปลงทุนตั้งกิจการ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK