Economics

‘ราชบุรีโฮลดิ้ง’ ทุ่มสองหมื่นล้าน พุ่งเป้าซื้อกิจการ-ประมูลเมกะโปรเจค

ราชบุรีโฮลดิ้ง” เดินหน้าขยายการลงทุน มากกว่า 20,000 ล้านบาทในปี 2562  ตั้งเป้าขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8,960 เมกะวัตต์ จาก 7,639.12 เมกะวัตต์ เตรียมพร้อมประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศอีก 350 เมกะวัตต์ กวาดลงทุนเมกะโปรเจคร่วมกับพันธมิตร รักษาระดับการเติบโต
 
IMG 20190220 142614
กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่จะต้องใช้เงินตามแผน 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการเซเปียนเซน้ำน้อย ลาว โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังระยะที่ 2 กำลังผลิตรวม 2,360 เมกะวัตต์ ตั้งในเขตปกครองตนเองกวางสี ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการน้ำประปาแสนดิน ในลาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau กำลังผลิต 275 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในอินโดนีเซีย

เตรียม 20,000 ล้านซื้อกิจการ

บริษัทได้เตรียมเงินสำหรับการเข้าซื้อกิจการในปีนี้รวม  10,000-20,000 ล้านบาท ทัั้งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน ประเภทการลงทุนใหม่ ( Greenfield) หรือกิจการที่มีอยู่เดิม (Brownfield)  หรือโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว มุ่งเน้นในต่างประเทศ ตั้งเป้าปีนี้เข้าซื้อกิจการให้ได้กำล้งผลิตเพิ่ม 350 เมกะวัตต์

ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา 1-2 โครงการ จะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2 ของปีนี้ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 14,000 ล้านบาท หนึ่งในโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาเป็นโครงการขนาดใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย และในอาเซียน

สำหรับการลงทุนในประเทศนั้น จะเดินหน้าลงทุนตามแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี 2018  ซึ่งจะเปิดให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์จี้ จังหวัดราชบุรี ที่จะหมดอายุสัญญาในเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 700 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้อย่างแน่นอน กำลังผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ เพราะมีความได้เปรียบในแง่ของต้นทุน และเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเราด้วย

“ขณะนี้บริษัทกำลังรอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงาน ถึงแผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเก่าของไตรเอ็นเนอร์จี้ ซึ่งจะต้องให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ตามแผนและแล้วเสร็จในปี 2567-2568 ”

โรงไฟฟ้า คอลัมน์
แฟ้มภาพ

เตรียมพร้อมประมูลไอพีพีทั่วประเทศ

บริษัทยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้ารายใหญ่ (ไอพีพี) ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ซึ่งตามแผนจะเปิดประมูลกว่า 8,300 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้น เพื่อเสริมความต้องการโรงไฟฟ้าภาคใต้อีก 700 เมกกะวัตต์ที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน จะต้องดึงโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตกไปช่วยรองรับในภาคใต้ ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตสูงสุดถึง 4-5% จากการเติบโตเฉลี่ยทั่วประเทศ 3%

สำหรับพีดีพี ที่นำนิวเคลียร์ออกจากแผนนั้น เพราะกระแสต่อต้าน แต่ก็ต้องติดตามเทคโนโลยีของนิวเคลียร์ไว้ เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ไม่ต้องใช้ยูเรเนียมเป็นเชือเพลิง ขณะนี้อยู่ในขั้นทดลอง และราคายังสูง คาดว่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาประมาณ 10 ปี

นายกิจจา กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทฯยังสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุนโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนต่างๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนจะพัฒนารวม 2,700 เมกะวัตต์ รวมถึงการร่วมลงทุน Battery Energy Storage กับกฟผ.อีกด้วย ที่จะนำร่องที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง ชัยบาดาล และบำเหน็จณรงค์

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเซเปียนเซน้ำน้อยนั้น ยอมรับว่างานก่อสร้างเลื่อนไป เพราะกรณีเขื่อนเกิดปัญหา แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

ปัจจุบัน งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า และติดตั้งกังหันพลังน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ชุด ก้าวหน้าแล้ว 94% ส่วนแผนฟื้นฟูทางเทคนิค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางการลาว สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทได้ทำประกันภัยความเสียหายไว้ทั้งหมดแล้ว วงเงินรวม 910 ล้านดอลลาร์

000 YH3LL

สนใจลงทุนโครงการเมกะโปรเจค

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) แต่ต้องรอให้มีการเจรจากับกลุ่มซีพีก่อน ซึ่งจะรู้ผลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้  โดยบริษัทเป็นหนึ่งในพันธมิตรร่วมทุนของกลุ่ม BSR รวมถึงสนใจลงทุนพัฒนาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกด้วย รวมถึงลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยจะมุ่งเน้นการจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ

สำหรับผลประกอบการปี 2561 บริษัทยังคงสามารถรักษากำไรได้อย่างน่าพอใจ โดยรายได้ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมค้า เพิ่มขึ้น  31.7 %  ผลการดำเนินงานปี 2561 บริษัทฯ รับรู้กำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 6,452.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% รายได้รวม  45,083.54 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจาก  3 แหล่งที่สำคัญ คือ รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงิน 62.4% ส่วนแบ่งจากกิจการที่ควบคุมร่วมกันและเงินปันผล 33.3% และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ 4.3% ในปี 2561 รายได้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมทุนที่มาจากโรงไฟฟ้าหงสาเพิ่มขึ้น

ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 101,251.90 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 41,315.88 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 59,936.02 ล้านบาท เงินสดและเงินลงทุน รวมจำนวน 13,924.34 ล้านบาท และกำไรสะสมจำนวน 49,952.77 ล้านบาท

ratch thailand 0

ในปีนี้ บริษัทจะมีโรงไฟฟ้งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์  3 โรง ประกอบด้วย

  1. โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตติดตั้ง 99.23 เมกะวัตต์ ซึ่ง บริษัทถือหุ้น 35%
  2. โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Collinsville  ในออสเตรเลีย กำลังผลิตติดตั้ง 42.5 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100%
  3. โครงการเซเปียน  เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 102.5 เมกะวัตต์ ในลาว ซึ่งจะช่วยเสริมให้รายได้ และกระแสเงินสดของบริษัทมั่นคงยิ่งขึ้น

ส่วนความก้าวหน้าในการร่วมลงทุนปีที่ผ่านมานั้น บริษัทประสบความสำเร็จในการร่วมลงทุน โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1  ขนาด 180  เมกะวัตต์ สัดส่วนถือหุ้น 26.61%  ในอินโดนีเซีย โครงการผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 10  ตันต่อชั่วโมง  สัดส่วนถือหุ้น 40%

โครงการติดตั้งระบบ Black Start โรงไฟฟ้าเคเมอร์ตัน 7.20 เมกะวัตต์ สัดส่วนถือหุ้น 100%  ในออสเตรเลีย และการลงทุนโครงการน้ำประปาแสนดิน ในสปป.ลาว กำลังผลิต 48,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ วัน จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตติดตั้งตามการลงทุนรวม 7,639.12 เมกะวัตต์หรือเทียบเท่า

Avatar photo