Politics

ตีกันไม่เลิก !! ‘Too Fast To Sleep.SCB – คณะพาณิชย์ มธ.’ ยังไม่ได้ข้อยุติ

กรณี “ตึกตู้ปลา” คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชียังไม่จบง่ายๆล่าสุด รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี พร้อมด้วยรศ.วิทยา ด่านธำรงกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร รศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย และผศ.ดร.ณภัทร สรอัฑฒ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ได้เปิดห้องแถลงข่าวข้อเท็จจริงวันนี้ (18 ก.พ.)

IMG 20190218 100947

โดยร่วมกันชี้แจงถึงที่มาที่ไป จนมาถึงขั้นตอนการพัฒนาบริเวณชั้น 1 ของตึกตู้ปลา ที่คณะพาณิชย์ศาสตร์ฯ ไปจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ และ ผู้ประกอบการ Too Fast  To Sleep

รศ.อานนท์ กล่าวเบื้องต้นว่า ที่ดินในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถือเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์โดย ใน พรบ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 มาตรา 14 (10) ระบุว่า ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้และจัดหาประโยชน์ จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย และที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงสามารถใช้สอยพื้นที่ราชพัสดุได้ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการจัดหารายได้ และผลประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มหาวิทยาลัยได้มีการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับการชี้แจงในครั้งนี้ ได้มีการอธิบายตั้งแต่การริเริ่มพัฒนาระยะแรก หลังจาก รศ.ดร.พิภพ เข้ามาเป็นคณบดีใหม่ๆ ที่จะปรับใหญ่ทั้งคณะพาณิชย์ศาสตร์ฯ ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ รวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบ จนนำมาสู่การร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเรื่องยังอยู่ที่ทั้งสองหน่วยงานมา 2 ปีแล้ว

ผ่านขั้นตอนทุกอย่าง

จากนั้นการพัฒนาโครงการก็ดำเนินการต่อ และมีการปรับแบบหลายครั้ง จากปรับทั้งหมดทุกชั้น มาสู่การปรับเฉพาะชั้นที่ 1 โดยร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ และ ผู้ประกอบการ Too Fast  To Sleep

รศ.ดร.พิภพ อธิบายว่า การปรับปรุงตึกตู้ปลาทุกอย่างผ่านขั้นตอนตั้งแต่คณะกรรมการบริหารคณะเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560  คณะกรรมการประจำคณะ คณะกรรมการกายภาพมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย และจบลงที่สภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สำคัญคณะกรรมการจัดหารายได้และผลประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เห็นชอบด้วยแล้ว และมาสู่การลงนามความร่วมมือระหว่างทางคณะ กับธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560  เพื่อพัฒนาพื้นที่ Too Fast To Sleep.SCB

ผ่านการระดมสมองจากกรรมการ 4 ฝ่าย

ที่ผ่านมามีการประชุมคณาจารย์รวม 8 ครั้ง มีคณาจารย์ที่คัดค้านเข้าร่วมประชุมโดยตลอด จากนั้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ได้นำ “ร่างสัญญาเช่า” มาให้ที่ประชุมคณาจารย์พิจารณา วันที่ 14 มิถุนายน 2561 ซึ่งที่ประชุมคณาจารย์ได้เชิญ “ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบและวิจัย สถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคม 4 ฝ่าย

โดยเข้าสู่ระยะการระดมสมองจากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2561 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมทั้ง ตัวแทนฝ่ายบริหาร ผู้แทนคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนนักศึกษา รวม 8 ครั้ง สุดท้ายมีการคัดเลือกแบบตามลำดับ จนเหลือ แบบ 8A และ 8B วันที่ 25 ตุลาคม 2561 คณะกรรมการประจำคณะมีมติเลือกแบบ 8A

วันที่ 26 ธันวาคม 2561 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการปรับสภาพพื้นที่เป็นไปตามข้อตกลง และรูปแบบที่มหาวิทยาลัยได้อนุมัติแล้ว

รศ.ดร.พิภพ เล่าย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมามีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไม่มีคนมา ทำให้ต้องยกเลิกในที่สุด และปรับแบบมาเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งก็ได้คุยกับหลายเจ้ามาจบที่ไทยพาณิชย์ และพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ Too Fast To Sleep และ SCB การที่หลายเจ้าถอย เพราะค่าเช่าาแพงประมาณตารางเมตรละ 1,000 บาท แพงกว่าที่ไปเช่าย่านสุขุมวิทเสียอีก  แต่ไทยพาณิชย์เข้ามา หวังเพียงว่า เขาจะได้ภาพจำกับเด็กนักศึกษาเท่านั้นในอนาคต

“โดยเอกชนทั้งสองรายพัฒนาให้เราเต็มพื้นที่ คือ 1,120 ตร.ม.โดย  Too Fast To Sleep จะปรับปรุงให้ 800 ตร.ม. แต่เช่าพื้นที่เพียง 17 ตร.ม. ส่วน SCB ปรับปรุงให้ 330 ตร.ม. แต่เช่าพื้นที่ 32 ตร.ม.

นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์เต็มๆ

ลักษณะการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ ในส่วนของ SCB จะเป็น TBS iLab มาจัดบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องในบริเวณนั้นกว่า 300 กิจกรรม เพื่อพัฒนานักศึกษาไปพร้อมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ ให้นักศึกษาทั้งปริญญาตรีและโท ต่อยอดไอเดียเป็นธุรกิจจริงโดยไม่ต้องรอให้จบ

ส่วน Too Fast To Sleep เรียกเป็น TBS iSpace  จัดเป็น co working space 300  ที่นั่ง และปรับที่นั่งให้ทำกิจกรรมได้ด้วย รวมถึงมีห้องประชุมใหญ่ 12 คนจำนวน 5 ห้อง และห้องประชุมย่อย 6 คนจำนวน 9 ห้อง นักศึกษาทำงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เปิดถึงเที่ยงคืน และอาจขยายเป็น 24 ชม. รวมถึงสแกนคนเข้าออก และมี CCTV ทุกตารางนิ้ว ละปรับที่นั่งให้

“บริเวณนี้ไม่ได้มีคนนอกมาใช้ประโยชน์มากนักเท่ากับนักศึกษาคณะเอง ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท กว่า 2,000 คนต่อปี เราจึงต้องทำ เพื่อให้นักศึกษาได้มีพื้นที่ทำงาน ทำโครงงาน เพราะจำนวนมากทำกันถึงวันรุ่งขึ้น เพื่อส่งงานตอนเช้า ที่ผ่านมานักศึกษาเหล่านี้ต้องไปนั่งทำงานไกลถึงสยามก็มี ทำให้เราได้ยินคำถามบ่อยครั้งว่า นักศึกษาต้องไประเหเร่ร่อนทำงานที่อื่น เมื่อไหร่เขาจะได้ใช้ประโยชน์จากใต้ตึกนี้ รอให้เขาจบก่อนหรือ”

ที่สำคัญความร่วมมือกับไทยพาณิชย์ ทำให้คณะประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 50% จากต้องลงทุนกว่า 60 ล้านบาทเหลือเพียง 28 ล้านบาท ในการปรับปรุงตึกตู้ปลา และริมน้ำเพื่อรองรับห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ และคณาจารย์ในคณะ ส่วนการพัฒนาของเอกชนไม่สามารถระบุงบประมาณได้ แต่เบื้องต้นน่าจะลงทุนตร.ม.ละ 20,000-25,000 บาท โดยสัญญาเช่ากินระยะเวลา 5 ปีต่อสัญญาได้บนเงื่อนไขใหม่ ซึ่งจะมีคณะกรรมการดูแล

IMG 20190218 111008

ตามเอกสารสัญญาเช่าที่มีการเปิดเผยในวันนี้ ผู้เช่าต้องลงทุนตามแบบที่ตกลงกัน และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเมื่อครบกำหนดสัญญาจะตกเป็นของคณะ และฝ่ายทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดูแลต่อไป

ด้าน รศ.วิทยา ระบุว่า พื้นที่ของคณะไม่ใช่ใช้เพื่อการพาณิชย์ แต่ทำทุกอย่างเพื่อการศึกษา พื้นที่บริเวณชั้น 1 นี่ก็คุยกับพันธมิตรหลายรายจนได้ข้อสรุปที่ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ และยินดีที่จะเดินไปพร้อมกับการพัฒนาการศึกษาของคณะ จึงไม่เห็นประเด็นว่ามหาวิทยาลัยจะสูญเสียอะไร และเรื่องนี้ก็รับฟังความเห็นมากว่า 2 ปีแล้ว

ความขัดแย้งครั้งนี้จะจบลงตรงไหน รศ.ดร.พิภพ ย้ำว่า โครงการพัฒนาต้องเดินหน้าต่อไป คงไม่หยุด เพราะทุกอย่างผ่านขั้นตอนมาหมดแล้ว เพียงแต่ไทยพาณิชย์เขาขอชะลอโครงการ เพื่อให้เราคุยกันให้เรียบร้อยก่อน

“ทุกอย่างต่อเดินหน้าต่อไป เพราะผ่านขั้นตอนมาตั้งแต่การประโยชน์บนพื้นที่เป็นไปโดยถูกต้อง ดังนั้นแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทุกอย่างก็ต้องดำเนินต่อไป โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมคณาจารย์ของคณะอีกรอบ” 

โดยในระหว่างมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ มีคณาจารย์จากคณะพาณิชย์ฯ ที่คัดค้านเข้าร่วมรับฟัง และซักถามด้วย โดย รศ.ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ พุ่งเป้าคำถามไปที่รศ.ดร.พิภพ ที่ถูกเชิญจากไทยพาณิชย์ไปร่วมงาน Innovation Summit ในต่างประเทศ เพื่อโยงถึงการให้ไทยพาณิชย์เข้ามาพัฒนาในโครงการนี้

รศ.ดร.พิภพ ตอบคำถามว่า เป็นการเชิญคณบดี 10 มหาวิทยาลัยไม่ได้เจาะจง และเป็นการเชิญภายหลังมีการบันทึกความเข้าใจไปแล้ว

ถามนักศึกษาหรือยัง

ขณะที่ ผศ.ดร.อัญชดา เจริญรุกข์ อีกฝ่ายที่คัดค้าน ระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการถามนักศึกษาก่อนเลย เหมือนกับสร้างบ้านไม่ถามคนอยู่ อาจารยไม่เดือดร้อน เพราะมีที่ทำงานอยู่แล้ว แต่ห่วงนักศึกษา และต้องการความมั่นใจว่า ใครมีสิทธิ์ใช้ที่แห่งนี้บ้าง คนนอก หรือนักศึกษา นอกจากนี้นักศึกษาจะต้องไปผูกกับธุรกิจของเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่

IMG 20190218 110941

ขณะที่มีนักศึกษามาร่วมแถลงข่าวด้วย โดยบอกว่า ได้ยินโครงการนี้มานานแล้ว และเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีที่ทำงานเลย จนต้องใช้คำว่า “ระเหเร่ร่อน” ส่วนนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง บอกว่า มีการประชุมนักศึกษาเมื่อ 1 ปีมาแล้ว แต่ก็บอกเพียงคร่าวๆเท่านั้น ไม่ได้ลงรายละเอียด แต่พอมาเกิดเรื่องขึ้น จึงไปติดตามเพจ “เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา”

“หากอะไรดี หนูก็ชอบหมด มีที่ทำงานเพิ่ม เราก็ชอบ แต่เราต้องการให้เรื่องนี้มีความโปร่งใส ไม่มีการทุจริต และมีการเปิดเผยข้อมูลให้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารู้กันเฉพาะในแวดวงอาจารย์เท่านั้น ”

IMG 20190218 122044

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องตึก “ รศ.ดร.พิภพ ทิ้งท้ายไว้ให้คิด เพราะเขาจะหมดวาระการเป็นคณบดีในปีนี้ และเป็นไปได้ที่รศ.ดร.พิภพ จะเข้าชิงตำแหน่งคณบดีต่อ

Avatar photo