Economics

สู้ไม่ถอย!! กฟผ.ทุ่มพิสูจน์ฝีมือ 8 หน่วยผลิตไฟฟ้า 6 แสนล้าน 10 ปี

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580  หรือ พีดีพี 2018  ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และกำลังเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้น เมื่อไปดูปลายแผนหลายคนต้องตกใจกับรัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทย ที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างการไฟฟ้าฝ่ายแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ป้อนประเทศลดต่ำลง จนต้องฮัมเพลงเก่า “สาละวันเตี้ยลงๆๆๆ “ ขณะที่เอกชนมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ

IMG 20190216 181413

ดิ้นเพิ่มกำลังผลิตโรงไฟฟ้าหลัก-หมุนเวียน

มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเป็นใย เพราะดูแล้ว ณ สิ้นสุดแผนพีดีพีในปี 2580 กฟผ.จะเหลือกำลังผลิตแค่ 24% เท่านั้น จากปัจจุบัน 34.39 %  (ณ เดือนมกราคม 2562 ) เกิดอะไรขึ้นกับกฟผ. นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.อธิบายว่า เป็นความจริงที่กฟผ.จะเหลือสัดส่วนการผลิตในปี 2580 เพียง 24% แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว

ในช่วง 10 ปีแรกของแผน  จะมีกำลังการผลิต 31% และ 10 ปีถัดไป จะมีโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้กฟผ.หรือเอกชนพัฒนาอีก 11%  และยังไม่ได้กำหนดจุดที่ตั้งที่ชัดเจนด้วย

บทพิสูจน์ที่ว่ากระทรวงพลังงานจะให้ใครทำในอีก 11% นั้น  นายวิบูลย์ มองในแง่ดีว่า หากโรงไฟฟ้า 8 หน่วยผลิตที่มอบให้กฟผ.พัฒนาโดยตรง สำเร็จลุล่วงได้ตามแผน สัดส่วนการผลิต 5,400 เมกะวัตต์ จะเป็นตัวการันตีให้กฟผ.ว่าเราจะได้กำลังผลิตเพิ่ม หากเราทำตามกำหนดเวลา และต้นทุนที่ต่ำลง “หากเราทำดีแล้ว ทำไม่จะไม่ให้เราทำเพิ่มอีก” เขาตั้งคำถามกับตัวเองและผู้มีหน้าที่ตัดสินใจไปพร้อมกัน

ดังนั้น 8 หน่วยผลิตนี้ กฟผ.จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้จงได้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จังหวัดนนทบุรี  กำหนดเข้าระบบในช่วง 6-8 ปีข้างหน้า ทั้งหมดเป็นระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าร่วม (Combined Cycle) ก๊าซธรรมชาติ ยกเว้นแม่เมาะที่ขยายในพื้นที่เดิมที่มีกำลังผลิตอยู่แล้ว

ลงทุน 6 แสนล้านพิสูจน์ฝีมือ

ทั้ง 8 หน่วยผลิตนี้ กฟผ.จะต้องใช้เม็ดเงินทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาท บวกการลงทุนสายส่งรองรับอีก 300,000 ล้านบาท รวม 600,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีนี้ โดยจะมุ่งใช้เงินในประเทศเป็นหลัก

IMG 20190216 150156 1
วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย

“เราจะนำบทเรียนของโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา ที่โรงไฟฟ้ายังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนตอนนี้มาดู เพื่อทำให้โรงไฟฟ้าทั้ง 8 หน่วยเกิดขึ้นได้ และเดินให้ได้ตามกำหนด  เป็นภารกิจพิสูจน์ฝีมือของเรา ” นายวิบูลย์ หมายมั่น

สำหรับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันกำลังศึกษาแบบ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเก่าที่ปลดออกจากระบบไปแล้ว ซึ่งเบื้องต้น สามารถทำได้ 2 หน่วยผลิต หน่วยละ 700 เมกะวัตต์ หากทำ 2 หน่วยแน่นเกินไป อาจต้องหาซื้อที่เพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงภาคใต้ ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าสุูงขึ้นจากการท่องเที่ยว

ขณะที่โรงไฟ้ากระบี่ และเทพา ก็อยู่ระหว่างการศึกษาของ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศึกษาอนาคตภาคใต้จะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้หรือไม่และควรอยู่ที่ไหน  ซึ่งจนถึงขณะนี้กฟผ.ยังไม่ได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมารายใด

โรงไฟฟ้าใหม่ต้องเดินเบาและเร็ว

และภายใต้การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาคของกฟผ.นั้น  กฟผ.ก็ทำแบบเดิมไม่ได้ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่ายุทธศาสตร์ กฟผ. อธิบายว่า โรงไฟฟ้าใหม่จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) หมายถึงเดินได้ด้วยกำลังผลิตต่ำที่สุดได้โดยโรงไฟฟ้าไม่ดับ จากเดิมโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีสัดส่วนการผลิตต่ำสุด 50% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่ต่อไปจะต้องผลิตต่ำที่สุดให้ได้ 30%

“ต่อไปความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง เพราะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องผลิตให้ได้เร็วขึ้น โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้ ใช้เวลาสตาร์ทโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบให้ได้ 15 นาที เป็นต้น ก็จะเริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้า 8 หน่วยที่เรากำลังพัฒนานี่้ก่อน เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เพราะบางช่วงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถเข้าระบบได้เต็ม เช่น ช่วงเย็น แดดหายไป ก็ต้องดึงจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของกฟผ.เข้าระบบแทนที่ ”

เพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ขณะเดียวกัน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากขึ้น ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเป็นภาระกับระบบโรงไฟฟ้าใหญ่ กฟผ.ก็มีหน้าที่ต้องศึกษาวิจัยนำร่องหาคำตอบ ทำให้พลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงด้วย จึงมีโครงการทดสอบติดตั้งแบตเตอร์รี่กับเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage ) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยดาบาล จังหวัดลพบุรี และบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ลงทุนแห่งละ 800 ล้านบาทรวม 1,600 ล้านบาท

สาเหตุที่กฟผ.เลือกพื้นที่ดังกล่าว ข้อมุล กฟผ.ระบุไว้ว่า เนื่องจาก เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2563  จังหวัดลพบุรี จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 301.2 เมกะวัตต์ ส่วนจังหวัดชัยภูมิ จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 218.2 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทน และจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างมีเสถียรภาพ และกักเก็บพลังงานในช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ และจ่ายไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง ช่วยควบคุม และรักษาความถี่ของไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ และช่วยบริหารจัดการสายส่ง ให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายวิบูลย์ ย้ำว่าถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กฟผ. ยังพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน (EGAT Micro Energy Management System : EGAT Micro-EMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Micro grid) ช่วยมอนิเตอร์ในภาพรวมและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก

IMG 20190216 151656

ขณะเดียวกันกฟผ.ก็จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยจะเน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เขื่อน เรียกว่า เป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งเราประเมินศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์เลยทีเดียว แต่ก็เลือกที่จะทำในจุดที่มีศักยภาพจริงๆ ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปได้ถึง 200 โรงหากทำทั้งหมด 10,000 เมกะวัตต์ นำร่องในเขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์

ทั้งนี้โซลาร์เซลล์ จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในช่วงกลางวัน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางคืน รวมถึงยังเป็นต้นแบบการศึกษา เรื่องความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า จากความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียน ภายในระบบส่งไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงานเข้าไปด้วย ซึ่งเป้าหมายจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเดินเครื่องได้ถึง 18 ชม. เป็นพลังงานน้ำ เสริมด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์บวกด้วยแบตเตอร์รี่

นอกจากนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยปัจจุบันกำลังศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์

นายวิบูลย์ กล่าวตอนท้ายว่า สรุปแล้ว 10 ปีแรก กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักที่กฟผ.ได้อยู่แล้ว 8 หน่วยผลิต กำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ จะทำให้มีสัดส่วนการผลิตที่ 35% ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) จะอยู่ที่ 33% และไม่นับรวมการผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่เป็นพลังงานหมุนเวียนอีก (วีเอสพีพี) รวมถึงโซล่าร์รูปท็อป ซึ่งกฟผ.ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีก 11% ที่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดประมูลให้เอกชนทำ หรือไอพีพีทำ จะทำให้สัดส่วนการผลิตของ กฟผ.ไม่ได้ลดต่ำลง แต่จะเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต

IMG 20190216 150441
พัฒนา แสงศรีโรจน์

ร่วมลงทุนกับพันธมิตรรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าความเร็วสูง

และยังมีหลายๆโครงการที่กฟผ.จะเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนขยายกิจการ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก “ต้นทุน” ของคนอื่น เป็นพันธมิตรร่วมลงทุน นายพัฒนา เฉลยว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงข้ามจังหวัด เป็นโครงการที่กระทบกับกฟผ.โดยตรง เพราะมีหลายเส้นทางวิ่งผ่านเสาไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ. ในทางเทคนิค ต้องยกเสาไฟฟ้าขึ้น ให้รถไฟฟ้าวิ่งลอดไปได้ เราจึงมีความคิดที่ไปคุยกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการที่จะขอเข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน แทนที่จะทำให้เราเป็นเพียงภาระของคนอื่น เป็นค่าไฟฟ้า เป็นต้นทุนของเขา มาเป็นผู้ร่วมลงทุนเติบโตไปด้วยกัน

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของกฟผ.มีอีกหลายโครงการที่กฟผ.กำลังซุ่มเงียบ ทำอีกหลายโครงการ ด้านหนึ่งเพื่อดิ้นรนไม่ให้องค์กรตายไปพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่จะก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  ดังนั้นแม้กำลังจะต้องปรับโคร้างลดกำลังคนจาก 20,000 คนเศษ เหลือ 15,000 คนใน 7 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า องค์กรจะหดเล็กลงตามคนที่ลดลง ไป แต่ต้องการ ”คนพันธุ์ใหม่” ที่ทดแทนคนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุไปแล้ว และคนที่กฟผ.กำลังมองหามาร่วมงาน คือ  “Data Analysis “ นายวิบูลย์ บอกว่าตอนนี้เราก็ใช้ AI ( Artificial Intelligence ) มาแทนคนหลายภารกิจแล้ว เพื่อนำพากฟผ.ให้ก้าวไปพร้อมโลกดิจิทัล

Avatar photo