Startup

‘รัฐผ่อนคลายกฎ’ หนุนสตาร์ทอัพเอเชียดึงทุนนอก ผงาดเวทีโลก

บรรดาสตาร์ทอัพในเอเชีย ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อจะได้เร่งขยายกิจการ และกระจายความสนใจในตลาดบ้านเกิดในกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ

New business news The top 10 most popular start up stories of 2018 wrbm large

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า บริษัทเกิดใหม่ในหลายประเทศเอเชีย ไล่ตั้งแต่เวียดนาม ไปจนถึงเกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ต่างระบุว่า พวกเขาต้องการนักลงทุนประเทศ เพื่อดึงดูดเงินลงทุน และการเข้าถึงที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้

บริษัทมากกว่า 20 ราย ที่ตอบแบบสอบถามของนิกเคอิ ต่างต้องการเห็นกฎข้อบังคับที่ชัดเจน และง่ายขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากภายนอกประเทศ

“ควรจะให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจของเราได้ง่ายกว่านี้” โจเซลิน ชุง ผู้อำนวยฝ่ายกลยุทธ์การตลาดโลก จาก เคเคเดย์ บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ ในไต้หวัน ระบุ

เธอบอกด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพ ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการลงทุน รวมถึง การผ่อนคลายนโยบายด้านแรงงาน และจัดหาผู้มีความสามารถท้องถิ่น

Andreas Senjaya iGrow 1 Foto
แอนเดรียส เซนจายา (ภาพ: Tech in Asia)

ขณะที่ แอนเดรียส เซนจายา ซีอีโอของ ไอโกรว์ รีซอร์สเซส อินโดนีเซีย ผู้ให้บริการที่จับคู่นักลงทุนกับโครงการเกษตรกรรม กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศเจอกับความยากลำบากที่จะเข้าร่วม และลงทุนในแพลตฟอร์มของบริษัท ผลจากกฎข้อบังคับต่างๆ

ส่วน ลินห์ ฟาม ผู้ก่อตั้งโลจิแวน เทคโนโลยีส์ สตาร์ทอัพโลจิสติกส์ของเวียดนาม ย้ำว่า การลงทุนจากต่างประเทศช่วยสร้างรายได้ และความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่ผู้คนจะได้รู้ถึงการทำธุรกิจ

ข้อมูลจาก ศูนย์เพื่อการวิจัยทุนส่วนบุคคลเอเชีย แสดงให้เห็นว่า เมื่อปีที่แล้ว ภาคเอกชนเข้าลงทุนในเอเชีย เพิ่มขึ้น 27% มาอยู่ที่ 166,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีมากกว่าเมื่อก่อน

โนบูอากิ คิตากาวะ กรรมการผู้จัดการไซเบอร์เอเจนท์ แคปิตอล ในนครเซี่ยงไฮ้ จีน กล่าวว่า การลงทุนต่างชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

“กองทุนเพื่อการลงทุนในท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก และไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สตาร์ทอัพอยากได้นักลงทุนต่างประเทศ ที่มีกองทุนขนาดใหญ่ และคุ้นเคยกับการลงทุนในเทคโนโลยี”

48419133 2204742039780553 2057155761301094400 n

ผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วของเทค อิน เอเชีย ผู้ให้บริการข่าวที่มุ่งเน้นด้านสตาร์ทอัพ แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2559-2560 นักลงทุนจากญี่ปุ่น และจีนเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่บริษัทเกิดใหม่ในเอเชีย ก็ยังเผชิญอุปสรรคใหญ่ ในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศอยู่ จากการที่หลายประเทศออกกฎหมายใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การจำกัดการเข้าถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ

บัซวิล บริษัทโฆษณาเกาหลีใต้ ที่เปิดทางให้บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงลูกค้าที่มีศักยภาพผ่านทางหน้าจอล็อกบนมือถือ เตือนถึงความสำคัญของเงินทุนต่างประเทศเหล่านี้ว่า จะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถรับความเสี่ยงในตลาดโลก จากการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ได้

เช่นเดียวกับ เดวิด คริสเตียน ผู้ก่อตั้ง อีโวแวร์ สตาร์ทอัพอินโดนีเซีย ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เห็นพ้องว่า เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนในท้องถิ่น จะมีความสามารถทัดเทียมกับนักลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากเรื่องเงินทุนแล้ว เหล่าสตาร์ทอัพยังเผชิญกับความยากลำบากที่จะหาบุคคลที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ

วีวา รีพับลิกา บริษัทเกาหลีใต้ ที่อยู่เบื้องหลัง ทอสส์ แอพพลิเคชันให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า ความท้าทายใหญ่สุดในการทำธุรกิจของบริษัท คือ การจ้างงาน รวมถึง วิศวกรที่มีทักษะ

รายงานของ คอร์น เฟอร์รี บริษัทที่ปรึกษา ชี้ว่า ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก จะมีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 4.3 ล้านตำแหน่ง สถานการณ์ที่อาจทำให้จีนสูญเสียรายได้ไปมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ราว 280,000 ตำแหน่งภายในปี 2563 โดยอินเดียจะเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่มีแรงงานภาคเทคโนโลยีสูงกว่าความต้องการ

คิตากาวะ จากไซเบอร์เอเจนท์ เตือนด้วยว่า ปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังไม่มีบริษัทไอที ขนาดใหญ่ระดับโลกแต่อย่างใด

Avatar photo