Business

ฮัทชิสัน พอร์ต โชว์ข้อมูลสุดไฮเทค ‘ท่าเทียบเรือชุด D’ มูลค่า 20,000 ล้านบาท

ฮัทชิสันพอร์ต
ปั้นจั่นพร้อมระบบควบคุมไร้สาย

ฮัทชิสัน พอร์ต” บริษัทในเครือของ “ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์” เปิดตัวโครงการท่าเทียบเรือชุด D มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท (600 ล้านดอลล่าร์) พร้อมดึงเทคโนโลยีการสั่งงานไร้สาย (Remote Control Technology) เข้าควบคุมปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสามารถควบคุมปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรกของโลก เพิ่มศักยภาพให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ 14,000 – 18,000 ทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ได้จากเดิมที่ไม่สามารถรับเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ได้มาก่อน

โดยท่าเทียบเรือชุด D นี้ก่อสร้างขึ้นบนพื้นที่ขนาด 76 ไร่ ของท่าเรือแหลมฉบัง แบ่งเป็นการก่อสร้างทั้งสิ้นสามเฟส (D1, D2 และ D3) สำหรับเฟสแรก (D1) มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2561 นี้ ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าขนาดใหญ่เท่าตึก 14 ชั้น จำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้า 10 คัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท ซึ่งทางฮัทชิสัน พอร์ต นำโดยนายสตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า โครงการท่าเทียบเรือชุด D สามารถเพิ่มศักยภาพในการลำเลียงตู้คอนเทนต์เนอร์ขึ้นลงจากเรือเดินทะเลได้เร็วขึ้นประมาณ 20% อีกทั้งขนาดของปั้นจั่นที่ใหญ่มากนี้ ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเข้ามายังท่าเทียบเรือประเทศไทยมาก่อนได้มากขึ้นด้วย

สำหรับโครงการเมื่อแล้วเสร็จ จะประกอบด้วย

  • ท่าเทียบเรือความยาวหน้าท่า 1,700 เมตร
  • – ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า 17 คัน
  • – ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบมีล้อยางไฟฟ้า 43 คัน
  • – มีการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบไฟเบอร์ออปติกเพื่อรับคำสั่งจากศูนย์ควบคุมระยะไกล
  • – การควบคุมปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจากระยะไกลเป็นการควบคุมแบบ 1 : 1 คือพนักงานหนึ่งคนต่อปั้นจั่นหนึ่งตัว
  • – การควบคุมปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้าจากระยะไกลเป็นการควบคุมแบบ 1 : 3 คือพนักงานหนึ่งคนต่อปั้นจั่นสามตัว

ทั้งนี้ คาดว่าการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้งานจะทำให้ท่าเทียบเรือชุด D สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 3.5 ล้านทีอียู และทำให้ท่าเทียบเรือทั้งหมดของฮัทชิสัน พอร์ต รองรับตู้สินค้าได้มากกว่า 6 ล้านทีอียู คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 40 – 45% จากเดิมมีส่วนแบ่งตลาด 30% โดยกำหนดแล้วเสร็จนั้น ทางฮัทชิสัน พอร์ต ระบุว่าเป็นช่วงปี 2566 – 2567 (2023 – 2024)

ฮัทชิสันพอร์ต

ลดการว่าจ้างพนักงาน?

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจ้างงาน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้อาจมีการจ้างงานในส่วนของพนักงานควบคุมปั้นจั่นลดลงประมาณ 25 – 30% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานแบบเดิม แต่ในภาพรวมแล้วธุรกิจอาจมีการจ้างงานมากขึ้น เนื่องจากท่าเทียบเรือดังกล่าวมีศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น

สำหรับข้อดีของการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้นั้น นายอาณัติ มัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด เผยว่า “การสร้างท่าเทียบเรือชุด D ที่มาพร้อมเทคโนโลยีการสั่งงานไร้สายเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องขึ้นลิฟต์เพื่อไปควบคุมปั้นจั่นขนาดใหญ่ ซึ่งคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เจ็บเข่า หรือปวดหลัง จะไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยระบบใหม่นี้ นอกจากสภาพแวดล้อมจะดีขึ้นแล้ว พนักงานยังสามารถทำงานได้นานขึ้น ไม่จำกัดว่าจะต้องเกษียนอายุที่ 60 ปีอีกต่อไป เนื่องจากงานทั้งระบบนั้นมีถึง 80% ที่เป็นระบบอัตโนมัติ ขณะที่การอบรมพนักงานใหม่ก็ทำได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องฝึกสอน 1 – 2 ปีจึงจะสามารถบังคับปั้นจั่นได้ ก็ลดลงเหลือ 1 เดือนเป็นต้น”

ฮัทชิสันพอร์ต
โครงการ D2

โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับปั้นจั่นหน้าท่าในประเทศไทยนั้น มีการใช้งานบ้างแล้วในซาอุดิอาระเบีย และโอมาน ซึ่งนายอาณัติเผยว่า ได้ทดลองใช้ในประเทศเหล่านั้นมาแล้วประมาณ 3 ปี คิดเป็นจำนวนครั้งในการยกตู้สินค้ามากกว่า 1 ล้านครั้ง และที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาใด ๆ เทคโนโลยีดังกล่าวจึงถือได้ว่าค่อนข้างเสถียรแล้วสำหรับการนำไปใช้ในประเทศอื่น ๆ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเทคโนโลยีการควบคุมระยะไกลที่ใช้กับปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้านั้นยังไม่เคยใช้กับประเทศใดมาก่อน ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก

20180508 121114
แผงหน้าจอการทำงานของระบบควบคุมระยะไกล

ปัจจุบัน ฮัทชิสัน พอร์ต มีท่าเทียบเรือ 52 แห่งใน 26 ประเทศทั่วโลก เป็นท่าเทียบเรือในแหลมฉบังทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือ A2, A3, C1 และ C2 และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 แห่ง คือท่าเทียบเรือชุด D อย่าง D1, D2 และ D3 โดยท่าเทียบเรือดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกหรือ EEC ตามแผนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

สำหรับบริษัทแม่อย่าง ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ ปัจจุบันมีธุรกิจหลักใน 6 อุตสาหกรรมได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม, ธุรกิจสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน, ธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจการเงินการลงทุน และสุดท้ายคือ ธุรกิจท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวข้องอื่น ๆ

Avatar photo