Finance

มีดีอะไร!! สถาบัน-รายใหญ่แห่ตุนหุ้น “เวิร์คพอยท์”

wp1

ช่วงปลายเดือนเมษายน หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลเริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้ง เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการที่คสช.ออกมาตรการคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ โดยให้พักชำระหนี้ได้ 3 ปี และลดค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ลง 50% เป็นเวลา 2 ปี

ปัจจัยดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มทีวีดิทัลฟื้นตัวขึ้นมา เพราะผู้ลงทุนคาดหวังว่า ผู้ประกอบการจะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น หลังจากได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้

ขณะที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คาดการณ์ว่า หุ้นทีวีดิจิทัล ที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือหุ้น บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งในด้านเนื้อหา และเรทติ้งอันดับต้นๆของกลุ่ม ประเมินว่าน่าจะมีศักยภาพในทำกำไรมากกว่าบริษัทอื่นๆ

หากย้อนไปดูราคาหุ้นโดยรวมตั้งแต่ต้นปี 2561 หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัล ส่วนมากราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ หุ้น WORK เป็นหุ้นหนึ่งในกลุ่มทีวีดิจิทัลที่ราคาหุ้นปรับลงลึกถึง 26% ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงทุบสถิติสูงสุดที่ 105 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปี 2547 และมีแรงขายทำกำไรออกมาส่งผลให้ ราคาหุ้นค่อยปรับตัวลงมาอยู่ระดับ 60 บาท ต้นๆในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดของหุ้น WORK ณ เดือนมีนาคม 2561 กลับพบว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนมีนาคม 2561 สถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ ได้ทยอยซื้อหุ้นเข้าพอร์ต โดยการเพิ่มสัดส่วนการถือ หุ้น WORK กว่าเท่าตัว มูลค่าเงินลงทุนรวมกันมากกว่า 1 พันล้านบาท

ดังนั้น น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า แม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลง ยังมีผู้ลงทุนที่เชื่อมั่นใจในการเติบโตของหุ้นดังกล่าว

ข้อมูลโครงสร้างผู้ถือ หุ้น WORK  ณ.เดือนมีนาคม 2561 พบว่า กลุ่มนักลงทุนที่เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นประกอบด้วย สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ เสี่ยปู่  ได้เพิ่มการถือหุ้นทั้งในพอร์ตลงทุนส่วนตัว และในพอร์ตลงทุนที่บริหารโดยบลจ.แอสเซทพลัส  ซึ่งเคยถือหุ้นรวมกันจำนวน 7.5 ล้านหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านหุ้น

ถ้านำราคาเฉลี่ยของหุ้นช่วงเวลาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ถึง มีนาคม 2561 ราคาเฉลี่ยของหุ้น WORK อยู่ที่ 82.28 บาทต่อหุ้น เมื่อ เสี่ยปู่ เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นจำนวน 4.2 ล้านหุ้น เท่ากับว่ามีมูลค่าเงินลงทุนถือหุ้นเพิ่มประมาณ 341 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 ได้เข้ามาซื้อหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนอีก จำนวน 2.49 ล้านหุ้น จากเดิมไม่เคยปราฏกว่าถือหุ้น WORK และหากคิดราคาเฉลี่ย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 205 ล้านบาท

บริษัท ซีเอสเอ็มไนน์ตี้ไนน์ จำกัด เข้ามาถือหุ้น 4.5 ล้านหุ้น มูลค่าเงินลงทุนราว 377 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่เคยถือลงทุน  และHSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD เข้ามาถือหุ้น 3.21 ล้านหุ้น หรือมูลค่าประมาณ 264 ล้านบาท จากเดิมไม่เคยปรากฏว่าถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินพื้นฐานหุ้น WORK ยังอยู่ในทิศทางที่ดี และให้ราคาเป้าหมายที่สูงกว่ากว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน

wp3

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า แนะนำให้เก็งกำไร WORK รับอานิสงส์เชิงบวกจากการที่ คสช. ใช้มาตรา 44 บรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดย WORK ถือเป็นหุ้นที่มี content แข็งแกร่งสุด  ขณะที่ราคาหุ้นเริ่มหยุดลงและสร้างฐานแนวรับที่ 60 บาท ประกอบกับ Volume การเทรดเริ่มลดลง คาดว่ามีโอกาสหมดแรงขายไปแล้ว มองเป็นโอกาสซื้อที่แนวรับ และขายเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น

บล.หยวนต้า เผยประเด็นผู้ประกอบการพักชำระหนี้ออกไป 3 ปี จะเป็นบวกต่อกระแสเงินสดช่วง 3 ปี ที่ 120 – 270 ล้านบาทต่อช่องต่อปี  คำนวณจากต้นทุนค่าใบอนุญาตที่บริษัทต้องจ่าย หักด้วยดอกเบี้ยจ่าย 1.5% ต่อปี ขณะที่กรณีลดค่าโครงข่าย 50% จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการราว 25 ล้านบาทต่อช่องต่อปี สำหรับประเด็นโอนใบอนุญาตจะเป็นบวกกับรายเล็กที่มีผลขาดทุน และกลุ่มที่มีใบอนุญาตมากกว่า 1 ใบ ซึ่งจากประเด็นข้างต้นจะเป็นบวกกับมูลค่าเหมาะสมของ WORK ขึ้นมาอีก 1.70 บาทต่อหุ้น เป็น 112 บาทต่อหุ้น

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มอง ประเด็นอุ้มทีวีดิจิทัลจะทำให้มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเงินมากขึ้น และลดแรงกดดันสภาพคล่องทางการเงิน แต่มองว่า WORK และ MONO จะไม่พักชำระค่าใบอนุญาต เนื่องจากมีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอ  โดยคาดว่ากำไรสุทธิ WORK ในปี 61 จะขยายตัวได้ดี จากเรทติ้งที่ยังดี และการปรับขึ้นค่าโฆษณาในปีก่อนจะส่งผลในปีนี้ และมีแนวโน้มขยับราคาขึ้นภายในปีนี้ด้วย ประกอบกับฐานปี 60 ที่ต่ำในช่วงพิธีพระราชทานเพลิงศพและราคาตามมูลค่าพื้นฐาน เบื้องต้นให้ราคาเป้าหมายที่ 79.75 บาท

wp4

บล.กรุงศรี คาดผลประกอบการไตรมาส1 ปี 2561 จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 204 ล้านบาท โต 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามรายได้จากธุรกิจทีวีที่คาดจะโต 25% จากไตรมาสก่อนหน้ามาเป็น 773 ล้านบาท ตามค่าโฆษณษาที่ 8.4 หมื่นบาทต่อนาที แม้เรทติ้งจะอ่อนแอลงมาอยู่ที่ 1.06 ทั้งจากการสูญเสียฐานผู้ชมให้แก่ละครบุพเพสันนิวาส แต่ได้รับการชดเชยจากรายได้ออนไลน์และคอนเสิร์ตที่เติบโตจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ประเมินกำไรสุทธิ WORK ในปี 2561 จะอยู่ที่ 1,127 ล้านบาท จากเรทติ้งในปี 2561 จะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 1.26 แต่ถือเป็นระดับลดลงจากปีก่อนที่ 1.36 ซึ่งเรทติ้งจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จากละครบุพเพสันนิวาสที่จบลงไปแล้ว และจากการปรับผังรายการใหม่ด้วยการปลดรายการที่มีเรทติ้งต่ำออกจากไปจากช่วงไพร์มไทม์ ทำให้คาดค่าโฆษณาในปี 2561 – 2562 จะอยู่ที่ราว 8.5 หมื่นล้านบาทต่อนาที และ 9.2 หมื่นล้านบาทต่อนาที ตามลำดับ จึงแนะนำให้ “ซื้อสะสมหุ้น” ที่ราคาเหมาะสม 88 บาท

จากข้อมูลข้างต้น ก่อนที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจเข้าลงทุนหรือไม่นั้น อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยงของหุ้นWROK ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะจะถึงวันครบกำหนดใช้สิทธิ์แปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (วอร์แรนท์) ที่จะซื้อหุ้นสามัญชุดที่ 1 หรือ WROK-W1  ที่ราคาใช้สิทธิ์เพียง 38.10 บาทในอัตรา 1 หุ้นต่อ 1 วอร์แรนท์  แม้จะมีจำนวนไม่มากแต่ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรพิจารณา หากจะหาจังหวะเข้าลงทุนในหุ้นตัวนี้ด้วย

ตุนหุ้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight