Finance

‘โกลเบล็ก’ มองหุ้นไทยผันผวนแกว่ง 1,765-1,805 จุด

DSC 7112

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยบวกทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ โดยล่าสุดทางสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.9% ต่ำสุดในรอบ 18 ปี

ส่วนปัจจัยบวกในประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2561 ขยายตัวได้ราว 4% ใกล้เคียงไตรมาส 4/2560 และยังคงคาดการณ์ทั้งปี 4.0-4.5% เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงซึ่งส่งผลบวกตามมาต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี ประกอบกับยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ ปลายเดือนมี.ค. 2561 คิดเป็น 41.04% ของ GDP ลดลง 9.5 พันล้านบาทจากเดือนก่อน โดยยังอยู่ต่ำกว่าเพดานที่ระดับ 60% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลเชิงลบต่อการลงทุนในสัปดาห์นี้มาจาก fund flow ยังผันผวน ในช่วง 1 เดือนย้อนหลังนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 หมื่นล้านบาท และการประชุมเฟดในเดือนหน้า (มิ.ย.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเดือนนี้ (พ.ค.) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ระดับ 2% กดดัน fund flow ไหลออก

อีกทั้งในสัปดาห์นี้มีเหตุการณ์ที่น่าจับตา ได้แก่ วันที่ 8 พ.ค. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย แถลง สถานการณ์การส่งออก วันที่ 10 พ.ค. จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษและแถลงมติเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย วันที่ 12 พ.ค. ก็ต้องรอลุ้นว่าสหรัฐฯจะถอนตัวออกจากข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่านหรือไม่ หากสหรัฐฯมีมติคว่ำบาตรอิหร่านจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบลดลงมากกว่าเดิม วันที่ 14 พ.ค. ประกาศรายชื่อหุ้นเข้าคำนวณดัชนี MSCI มีผล 30 พ.ค. และในวันที่ 15 พ.ค. กำหนดวันสุดท้ายสำหรับบริษัทจดทะเบียนในการส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2561

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวน คาดดัชนี SET ผันผวนในกรอบ 1,765-1,805 จุด แนะนำซื้อเก็งกำไร หุ้นที่มีปัจจัยบวก ได้แก่ KTC, BEAUTY และ GULF ติดโผคาดการณ์เข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard รอบใหม่ที่จะประกาศ 14 พ.ค. รวมถึง GFPT, TU, XO, TFG และ BR ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า และ BANPU ได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นสู่ 100 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 9% ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK