Economics

ไม่ได้โม้! เริ่มตอกเสาเข็ม ไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-โคราช’ กลางปีนี้

“อาคม” ลั่นเริ่มก่อสร้าง “ไฮสปีดไทย-จีน” ครบทั้ง 252 กม. ภายในกลางปีนี้ พร้อมตั้งเป้าลงนามสัญญาจัดซื้อขบวนรถ 3.8 หมื่นล้านบาทในเดือนหน้า

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการรถไฟไทย-จีน วันนี้ (14 ก.พ.)ว่า ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนอยู่ระหว่างเจรจาร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 เรื่องงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท

การเจรจาร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เพราะมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก โดยมีหลายประเด็นที่ฝ่ายไทย และฝ่ายจีนยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน เช่น ฝ่ายจีนเสนอขอรับประกันผลงาน 1 ปี แต่ฝ่ายไทยยืนยันให้รับประกัน 1 ปี ในกรณีที่ทางจีนการดำเนินงานล่าช้า ฝ่ายจีนขอเสียค่าปรับ 0.0001% แต่กฎหมายไทยกำหนดให้ต้องจ่ายค่าปรับ 0.1%

นอกจากนี้ฝ่ายจีนขอปรับฝ่ายไทย กรณีที่งานก่อสร้างล่าช้าและส่งผลให้การดำเนินงานตามสัญญาฉบับที่ 2.3 ของฝ่ายจีนล่าช้าตามไปด้วย แต่ฝ่ายไทยยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีแนวปฏิบัติดังกล่าว ตามปกติถ้าหากสัญญาก่อสร้างล่าช้า ก็จะใช้วิธีขยายอายุสัญญาที่ได้รับผลกระทบแทน

“คิดว่าการประชุมคณะกรรมการไทย-จีน วันที่ 27 ก.พ.- 1 มี.ค. ที่ประเทศจีน จะได้ข้อยุติเรื่องร่างสัญญา 2.3 จากนั้นฝ่ายไทยจะต้องกลับมาดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เสนอร่างสัญญาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและลงนามสัญญากับฝ่ายจีนในเดือนมีนาคม” นายอาคมกล่าว

รับได้! จีนเสนอเงินกู้ 25 ปี ดอกเบี้ย 3%

นายอาคม กล่าวถึงแหล่งเงินกู้ที่จะนำมาลงทุนในสัญญาฉบับที่ 2.3 ว่า ล่าสุดฝ่ายจีนเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา 3% เป็นเวลา 25 ปี และมีระยะปลอดดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรก โดยฝ่ายจีนระบุว่า ตนมีต้นทุนทางการเงินในระดับสูง

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ในระดับที่รับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินกู้แหล่งอื่นๆ และสถานการณ์ตลาดโลกในปัจจุบัน รวมถึงสอดคล้องกับเงื่อนไขฝ่ายไทยที่ต้องการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเลือกแหล่งเงินกู้จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลังเป็นหลัก

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างโยกรายจ่ายบางรายการ ที่บรรจุอยู่ในสัญญาฉบับอื่น มาบรรจุอยู่ในร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 แทน เนื่องจากมีการบันทึกอุปกรณ์บางรายการผิด เช่น การจัดหารถอัดหิน เป็นต้น แต่ถึงจะปรับรายการที่บันทึกแล้ว แต่การลงทุนสัญญาฉบับที่ 2.3 จะไม่เกินกรอบวงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน

000 YH3LL
รถไฟความเร็วสูงในศูนย์ซ่อมบำรุงที่จีน

6 มี.ค. ลงนามจ้าง ‘ซีวิลเอ็นจิเนียริง’

สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 14 สัญญานั้น นายอาคมกล่าวว่า สัญญาฉบับที่ 1 ช่วงสถานีปางดง-กลางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ด้านสัญญาฉบับที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร มีบริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลและมีกำหนดจะลงนามสัญญาในวันที่ 6 มีนาคมนี้

ด้านการก่อสร้างล็อตที่ 3 จำนวน 5 สัญญา วงเงินรวม 58,425 ล้านบาท ได้ประกาศร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้ในเดือนมีนาคม ส่วนงานโยธาล็อตที่ 4 จำนวน 7 สัญญาสุดท้าย กรอบวงเงิน 60,393.92 ล้านบาท คาดว่าจะกำหนดราคากลางแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ จากนั้นคาดว่าจะทราบผลการประมูลล็อตที่ 3 และล็อตที่ 4 ครบทั้ง 12 สัญญาภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเริ่มก่อสร้างครบทั้งหมดในเดือนมิถุนายนนี้

ตั้งเป้าชงเข้า ครม. ต่อเนื่อง

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 215,708.76 ล้านบาทนั้น นายอาคมคาดว่า จะเสนอผลการศึกษาและรายละเอียดโครงการให้ ครม. พิจารณาทันรัฐบาลชุดนี้ ขณะเดียวกันได้ของบประมาณออกแบบรายละเอียดจำนวน 797 ล้านบาท เพื่อให้ฝ่ายไทยดำเนินการออกแบบรายละเอียดเองและฝ่ายจีนจะรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาได้ทบทวนผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 2 เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจรับผลการศึกษาขั้นสุดท้าย จากนั้นคาดว่าการรถไฟฯ จะเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ก่อนเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมและ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป

Avatar photo