Media

งบโฆษณา 62 ทะลุ 9 หมื่นล้าน ‘ออนไลน์’ มาแรงสุดๆ

เข้าปี 2562 ไม่มีอะไรแรงเท่ากับกระแสการเลือกตั้งอีกแล้ว ที่ช่วยกระตุ้นตลาดโฆษณาให้คักคึกจากการหาเสียงของพรรคการเมืองผ่านช่องทางสื่อต่างๆ  แต่เป็นเพียงฉากเดียว หลังเลือกตั้งยังมีอีกฉากใหญ่ที่หลายคนยังลุ้น การคาดการณ์ใช้งบโฆษณาปี 2562 เลยต้องกั๊กการเติบโตขั้นต่ำไว้ที่ 5%

7 e1549968934560

นายภวัต เรืองเดชวรชัย  ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2562 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายงบโฆษณา ประมาณ 91,429 ล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อน ที่อยู่ที่ 87,109 ล้านบาท

ทีวีครองแชมป์กวาดเม็ดเงินสูงสุด

สำหรับช่องทางที่มีการใช้งบโฆษณาสูงสุด ยังเป็นสื่อทีวี เม็ดเงิน 49,686 ล้านบาท รองลงมาเป็นสื่อออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต 17,518 ล้านบาท สื่อกลางแจ้ง ( Out Of Home ) 12,498 ล้านบาท หนังสือพิมพ์ 4,402 ล้านบาท วิทยุ (เฉพาะคลื่นในกรุงเทพ ไม่รวมวิทยุชุมชน) 4,163 ล้านบาท สื่อผ่านภาพยนตร์ (Cinema) 2,325 ล้านบาท นิตยสาร 838 ล้านบาท

หาดดูเฉพาะเดือนมกราคม 2562 มีการใช้งบโฆษณาไปแล้ว 6,318 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 % ที่อยู่ในระดับ 6,337 ล้านบาท

10 บริษัท ใช้งบโฆษณาสูงสุด 01

พีแอนด์จีทุ่มงบมกราคมสูงสุด

ท็อป 10 อันดับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

  1. พีแอนด์จี 272 ล้านบาท
  2. ยูนิลีเวอร์ 195 ล้านบาท
  3. ทีวีไดเร็ค 158 ล้านบาท
  4. ลอรีอัล 141 ล้านบาท
  5. ฟอร์ด 124 ล้านบาท
  6. เนสท์เล่ 112 ล้านบาท
  7. เอไอเอส 112 ล้านบาท
  8. อีซูซุ 104 ล้านบาท
  9. ดีแทค 104 ล้านบาท
  10. อายิโนะโมโตะ 101 ล้านบาท

10 แบรนด์ ใช้งบโฆษณาสูงสุด 01

ขายตรงบุกหนัก

ส่วนท็อป 10 อันดับแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือนมกราคม ส่วนใหญ่เป็นโฮม ช็อปปิ้ง หรือขายตรง

  • อันดับ 1 เป็น @shop 1781 ของค่ายอาร์เอส ผ่านช่อง 8 ใช้เม็ดเงินไป 254 ล้านบาท
  • อันดับ 2 ทีวีไดเร็ค 158 ล้านบาท
  • อันดับ 3 ฟอร์ด 108 ล้านบาท
  • อันดับ 4 SANOOK SHOPPING 96 ล้านบาท
  • อันดับ 5 O SHOPPING 92 ล้านบาท
  • อันดับ 6 ธนาคารออมสิน 82 ล้านบาท
  • อันดับ 7 สำนักนายกรัฐมนตรี 76 ล้านบาท
  • อันดับ 8 โค้ก 66 ล้านบาท
  • อันดับ 9 ผลิตภัณฑ์ดาวน์นี่ 63 ล้านบาท
  • อันดับ 10 ดีแทค 63 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากแยกเป็นประเภทสินค้าแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ยังเป็นเม็ดเงินที่มีการใช้งบโฆษณาในสัดส่วนสูง

คาดการณ์ใช้จ่ายปี 2562 01

งบผ่านออนไลน์มกราคม 62 พุ่ง 31%

สำหรับการเติบโตของสื่อในช่วงเดือนมกราคมของปีนี้เมื่อเทียบปี 2561  พบว่า สื่อที่มีอัตราการเติบโตชัดเจน คือ สื่อออนไลน์ หรือ อินเทอร์เน็ต สัดส่วน 31% โดยมียอดการใช้สูงขึ้นเป็น 1,460 ล้านบาทในเดือนแรกของปีนี้

ขณะที่สื่อทีวี แม้จะมียอดใช้งบโฆษณาของเดือนมกราคาปีนี้สูงสุด คือ 3,207 ล้านบาท แต่เป็นอัตราที่ลดลง 6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

“การที่สื่อทีวีมียอดใช้งบยังสูง เพราะเป็นช่องทางแมส ที่จะไปถึงกลุ่มคนดูจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และต้นทุนต่ำที่สุด ประจวบกับช่วงนี้กระแสเลือกตั้ง ทำให้คนดูข่าวมากขึ้น ซึ่งประชาชนเลือกที่จะดู และเชื่อข่าวที่ออกจากทีวีมากกว่าออนไลน์  แต่ที่น่าสนใจมากกว่า คือ ตอนนี้โฮมช๊อปปิ้งกลายเป็นรายได้หลักของทีวี“

หากจะแยก ทีวี ออกเป็น เทียร์ 1 คือ ช่องหลักอย่าง 3 5 7 9 ตอนนี้ ยอดโฆษณาช่วงไพร์มไทม์ไม่เต็ม อย่างสูงประมาณ 50%

ส่วนเทียร์ 2 เช่น เวิร์คพอยท์ โมโน ช่องวัน ช่อง 8 หรือไทยรัฐ พบว่ายอดโฆษณาสูงกว่า ประมาณ 70 % เพราะคอนเทนท์ดีกว่า และราคาถูกกว่า แต่ก็มีทั้งขึ้นและลง บางช่อง เช่น เวิร์คพอยท์อาจดร็อปลงเพราะไม่มีอะไรใหม่

ขณะที่เทียร์ 3 เช่น ช่องเกิดใหม่ต่างๆ อาทิ พีพีทีวี เฉลี่ยมียอดโฆษณาเข้ามาประมาณ 30% แต่ก็ต้องจับตาดูการปรับตัวต่างๆ เช่น การมีละครเข้ามา คาดว่าจะเป็นช่องที่มาแรงได้

นิตยสาร-นสพ.ตกต่ำสุด

ส่วนสื่อที่ติดลบหนักในช่วงเดือนมกราคมของปีนี้เทียบปีก่อน นายภวัต ย้ำว่า คือ นิตยสารตกลงถึง 33% จาก 87 ล้านบาทเหลือ 58 ล้านบาท และสื่อผ่านภาพยนตร์ ลดลง 25%  จาก 188 ล้านบาท เหลือ 142 ล้านบาท

ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ ตกลง 19% จาก 394 ล้านบาทเหลือ 318 ล้านบาท ส่วนสื่อกลางแจ้ง ลดลง 2% จาก 879 ล้านบาท เหลือ 860 ล้านบาท

“หนังสือพิมพ์ และนิตยสารอยู่ในจุดที่ตกลงมาอยู่ในจุดต่ำที่สุดแล้ว แม้จะมีความพยายามทำฉบับพิเศษในโอกาสสำคัญๆต่างๆ แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น”

ส่วนสื่อวิทยุเป็นบวก 1% จาก 271 ล้านบาทเป็น 273 ล้านบาท สาเหตุมาจากการปรับตัวของคลื่นวิทยุต่างๆที่ใส่คอนเทนท์ลงไปมากขึ้น ทำให้ยังเป็นที่นิยม เช่น เล่นเกม หรือคอนเสิร์ตการใช้จ่ายอุตสาหกรรมสื่อ 01

ยอดออนไลน์ทั้งปีคาดโตขั้นต่ำ 20%

นายภวัต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์มาแรงมาก คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะเติบโตขั้นต่ำ 20% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันคาดว่า 80% ของประชากร 70 ล้านคนเข้าถึงออนไลน์หมดแล้ว

เหตุผลมาจากการเติบโตของดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น โดยล่าสุด ผู้ใช้ (User)เฟซบุ๊ค มีถึง 51 ล้านคน ส่วนคนใช้ยูทูบ ที่ลงทะเบียนผ่านจีเมล์มีถึง 56 ล้านคน ผู้ใช้อินสตราแกรม 14 ล้านคน ทวิตเตอร์ 12 ล้านคน และไลน์ 44 ล้านคน

จากตัวเลขนี้จะเห็นว่าไลน์มาแรงมาก เพราะมีการสรรหาคอนเทนท์ที่น่าสนใจเข้ามา โดยเฉพาะไลน์ทีวี ที่ไปผูกติดกับพันธมิตรแบบเอ็กครูซีฟ เช่น ละครดังต่างๆที่ดูได้เฉพาะที่ไลน์ทีวีเท่านั้น ทำให้ยอดคนดูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ทวิตเตอร์เติบโตเช่นกัน ผู้ใช้เพิ่มจาก 1 ล้านคนเมื่อ 7-8 ปีก่อนเป็น 12 ล้านคนในปีนี้ โดยยอดผู้ใช้มาแรงในช่วง 2 ปีมานี้ สาเหตุมาจากเด็กรุ่นใหม่เจน Y และ Z  เปลี่ยนช่องทางการสื่อสารในกลุ่ม “เกรียนๆ” มาเป็นทวิตเตอร์แทนเฟซบุ๊ค ขณะที่นักการเมือง สื่อมวลชน และนักคิดเปลี่ยน จากทวิตเตอร์ไปที่เฟซบุ๊ค หรือสร้างเพจแทน

หากเลือกตั้งนิ่งงบโตได้ถึง 10%

นายภวัต  บอกว่า คอนเทนท์ของนักการตลาดในการจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์ตอนนี้ไม่มีอะไรโดดเด่นเท่ากับกระแสการเลือกตั้งที่มากลบทุกเรื่อง เห็นได้จากกระแสวาเลนไทน์ที่ไม่คึกคักเลย อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วช่วงนี้วงการโฆษณานอกจากคึกคักจากการเลือกตั้งแล้ว จะมีเรื่องฤดูเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกระแสซัมเมอร์ที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆจะเริ่มกลับมาทำตลาดอีกครั้ง

“ในระยะยาว หวังว่าการเลือกตั้งจะทำให้ทุกอย่างนิ่ง ทำให้คนอยากออกมาจับจ่ายใช้สอย นักการตลาดก็มั่นใจตาม การใช้งบโฆษณาก็จะกลับาคึกคักอีกครั้ง เพราะในวงการเองก็อยากใช้งบให้เยอะ เพราะงบโฆษณาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทุกระดับ เราก็อยากให้งบโฆษณาปีนี้เติบโตไปให้ถึง 10 %” 

Avatar photo